กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – อดีตประธานาธิบดีมองโกเลียและเป็นตัวแทนคณะกรรมาธิการ ICDP เดินทางเยือนประเทศไทย พบปะหารือกับคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมรวมถึงสื่อ เพื่อรณรงค์และแสดงจุดยืนสนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต
ในช่วงเช้าวันนี้ นายเอลเบกดอร์จ ซาเกีย อดีตประธานาธิบดีมองโกเลีย ให้สัมภาษณ์พร้อมตอบคำถามกับสื่อไทยในฐานะคณะกรรมาธิการ ICDP หรือ International Commission against the Death Penalty ถึงจุดยืนของ ICDP รวมถึงจุดมุ่งหมายของการเดินทางเยือนประเทศไทยในครั้งนี้
ซึ่ง ICDP เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตทั่วโลก มีที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการอยู่ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน และเห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการเชิงบวกหลายประการที่เป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิต จึงเกิดเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตกันระหว่างนายซาเกีย พร้อมด้วยนางกลอเรีย มาคาปากัล – อาร์โรโย อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และเป็นคณะกรรมาธิการ ICDP เช่นกัน รวมถึงนายเฟลิเป้ เดอ ลา โมเรนา คาซาโด เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปน ประจำประเทศไทย กับคณะเจ้าหน้าที่ของไทยนำโดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายซาเกีย ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมองโกเลีย ต่อสู้อย่างเต็มที่จนสามารถผลักดันนโยบายยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศได้สำเร็จ เขามองว่า โทษประหารชีวิตมีโอกาสที่จะทำให้นักโทษที่แท้จริงแล้วอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ต้องตายไปอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งการประหารผู้บริสุทธิ์ก็ไม่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่าคือ กระบวนการยุติธรรม
ปล่อยเสียงสัมภาษณ์
นายซาเกีย ยังบอกอีกว่าอาชญากรและผู้ก่อการร้ายจำนวนไม่น้อยที่ก่อเหตุพร้อมยอมตาย ไม่เกรงกลัวโทษประหาร แต่กลัวความยุติธรรม และการจองจำพวกเขาเหล่านั้นให้วนเวียนอยู่กับความรู้สึกผิดต่อบาปที่ก่อขึ้นไปตลอดชีวิตคือสิ่งที่ควรทำมากกว่าการประหารชีวิต
เมื่อสื่อสอบถามถึงทิศทางการหารือ นายซาเกียบอกว่า ประเทศไทยมีท่าทีในเชิงบวก และจะรับพิจารณาในประเด็นดังกล่าว รวมถึงกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนต่อไป ซึ่ง ICDP ยินดีและพร้อมสนับสนุนกระทรวงยุติธรรมไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมี 114 ประเทศ ที่ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภทแล้ว รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านเราในอาเซียนอย่างกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ขณะที่ยังมีอีก 55 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารอยู่ .-สำนักข่าวไทย