เจิ้งโจว, 3 ก.พ. — จีนค้นพบหลุมศพของครอบครัวชนชั้นสูงในสังคมยุคราชวงศ์เว่ยและจิ้น (ปี 220-420) จำนวน 3 หลุม ในเขตเมิ่งจิน เมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า หลิวปิน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทางโบราณคดีของเมืองลั่วหยาง กล่าวว่าหลุมศพเหล่านี้เรียงลดหลั่นเป็นลำดับชั้นและน่าจะถูกออกแบบอย่างประณีต สะท้อนการปรากฏอยู่ของตระกูลชนชั้นสูงในยุคสมัยนั้น
รายงานระบุว่าหลุมศพรหัสเอ็ม1 (M1) ซึ่งถูกก่อสร้างอย่างดีที่สุดในบรรดาหลุมศพทั้งหมด ประกอบด้วยช่องทางเดินยาว ทางเดินที่ถูกปูพื้น ประตูจากอิฐและหิน และโถงกลาง โดยทางเดินหลักยาว 40 เมตร แต่ละด้านมีรูเสา 12 รู ส่วนข้างในมีบันได 7 ขั้น ทำให้ความลึกโดยรวมของหลุมศพใต้ดินอยู่ที่ 11 เมตร
หลิวกล่าวว่าช่องทางเดินและบันไดหลายขั้นที่ถูกสร้างบนทางลาดของหลุมศพรหัสเอ็ม1 เป็นสัญลักษณ์แห่งสถานะชนชั้นสูงในสังคมของเจ้าของหลุมศพในยุคราชวงศ์เว่ยและจิ้น โดยขนาดของหลุมศพนี้ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสุสานจักรพรรดิในยุคสมัยนั้น
ขณะเดียวกันมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ เครื่องสัมฤทธิ์ เครื่องกระดูก เครื่องหยก ทองคำ และเหรียญ มากกว่า 200 ชิ้น ซึ่งถือเป็นหลักฐานใหม่สำหรับการวิจัยประเพณีฝังศพในยุคสมัยดังกล่าว
หลิวกล่าวว่าเครื่องเขินทำจากงาช้างที่ขุดพบจากหลุมศพรหัสเอ็ม1 มีคุณภาพงานฝีมือวิจิตรบรรจงชั้นเยี่ยม บ่งชี้สถานะพิเศษทางสังคมของเจ้าของหลุมศพ
นอกจากนั้นมีการขุดพบเศษซากศิลาจารึกบางส่วน ซึ่งบันทึกข้อมูลชื่อกลุ่มผู้ติดตามเจ้าของหลุมศพ ทว่าปราศจากชื่อที่แท้จริงและเรื่องราวชีวิตของเจ้าของหลุมศพ ทำให้ตัวตนเจ้าของหลุมศพยังคงเป็นปริศนาและต้องสืบค้นต่อไป.-813.-สำนักข่าวไทย