อังกฤษ 28 ก.ค. – สารคดีโลกวันนี้ ไปชมมุมมองของชาวอังกฤษในการแก้ปัญหาความอดอยากได้อย่างลงตัวเป็นอย่างไร
ความอดอยากเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของผู้คนอังกฤษ โดยเฉพาะหลังจากสหราชอาณาจักรตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ทำให้ราคาอาหารนำเข้าขยับสูงขึ้นมาก และค่าเงินปอนด์ก็ลดลง คาดว่าในปีนี้ราคาอาหารจะพุ่งสูงขึ้นราวร้อยละ 5-8
ทรัสเซลล์ ทรัสต์ ผู้ดำเนินการธนาคารอาหาร ระบุว่าทั่วอังกฤษต้องแจกจ่ายอาหารในภาวะวิกฤติระหว่างเดือนเมษายน-กันยายนปี 2559 มากกว่า 500,000 ชุด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ถึง 400,000 ชุด แต่ขณะที่มีผู้คนจำนวนมากยังหิวโหยไม่มีจะกิน กลับพบว่ามีการทิ้งขว้างอาหารมากมายมหาศาล แต่ละปีร้านอาหารต่างๆ ทิ้งขว้างอาหารเป็นปริมาณถึง 900,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 17,000 ล้านปอนด์ (ราว 759,000 ล้านบาท)
กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อว่า People’s Fridge จึงคิดนำอาหารที่จะถูกทิ้งขว้างเหล่านี้ไปแจกจ่ายให้คนยากจน โดยเปิดให้บรรดาธุรกิจและชาวบ้านในชุมชนนำอาหารทั้งแบบสดและแปรรูปที่ยังไม่หมดอายุมาบริจาค และเพียงไม่กี่สัปดาห์ที่เริ่มกิจกรรมนี้ ก็มีผู้นำอาหารมาบริจาคมากมาย
ซาร่าห์ คุ้ก ผู้จัดการร้านอาหารริตซี่ ซีเนม่า บอกว่า ร้านอาหารมากมายต้องทิ้งอาหารจำนวนมาก แทนที่จะนำไปทิ้งให้เสียของเปล่าๆ หากนำไปช่วยเหลือผู้คนที่ยากไร้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กว่า
ผู้คนจำนวนมากพากันไปขอรับบริจาคที่ธนาคารอาหาร แต่ที่นั่นไม่ได้บริจาคอาหารสด วิธีนี้จึงเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ลดปัญหาความอดอยาก ให้คนยากไร้และผู้มีรายได้น้อยได้มีอาหารรับประทาน และยังช่วยบรรเทาปัญหาทิ้งขว้างอาหารซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชาติด้วย ทางกลุ่มได้แนวคิดนี้มาจากสเปน เยอรมนี และอินเดีย ซึ่งมีโครงการทำนองเดียวกัน แม้วิธีนี้จะไม่ได้ทำให้ปัญหาความอดอยากหมดไป แต่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาให้ทุเลาลงได้. – สำนักข่าวไทย