วอชิงตัน 31 ต.ค.- องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เตือนว่า เด็ก 300 ล้านคนหรือราว 1 ใน 7 ของทั้งโลก มีชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศพิษ ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียใต้
ยูนิเซฟเผยแพร่ผลการศึกษาก่อนที่จะมีการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำปีของสหประชาชาติที่โมร็อกโกระหว่างวันที่ 7-18 พฤศจิกายนว่า เด็กเหล่านี้หายใจเอาอากาศที่สกปรกกว่ามาตรฐานสากลอย่างน้อย 6 เท่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยสำคัญหลักที่ทำให้ทารกอายุไม่ถึง 5 ขวบเสียชีวิตปีละ 600,000 คน เป็นอันตรายต่อชีวิตและอนาคตของเด็กอีกหลายล้านคน มลพิษไม่เพียงเป็นอันตรายต่อปอดของเด็ก แต่ยังอาจทำให้พัฒนาการทางสมองของเด็กเสียหายอย่างถาวร และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุที่เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
ยูนิเซฟใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลักฐานยืนยันว่า เด็ก 2,000 ล้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อากาศกลางแจ้งเกินมาตรฐานความปลอดภัยขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก ต้นเหตุมลพิษมาจากควันเสียยานยนต์ เชื้อเพลิงฟอสซิล ฝุ่นละออง การเผาขยะ และสารก่อมลภาวะทางอากาศอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือนที่เกิดจากการใช้ถ่านและฟืนหุงหาอาหารและให้ความอบอุ่น มลพิษทางอากาศทั้งในและนอกบ้านเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบเสียชีวิตเกือบ 1 ใน 10
ผลการศึกษาของยูนิเซฟระบุว่า เอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีเด็กอาศัยอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศมากที่สุด 620 ล้านคน ตามด้วยแอฟริกา 520 ล้านคน เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก 450 ล้านคน เด็กยากจนมีความเสี่ยงสูงที่สุดเพราะสุขภาพไม่แข็งแรงอยู่แล้วและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข.-สำนักข่าวไทย