ปักกิ่ง 30 พ.ค.- นักวิเคราะห์เตือนว่า ธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปันที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในจีนและมีหลากหลายประเภทอาจไม่ยั่งยืนเพราะบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้พึ่งพาเงินทุนที่พร้อมถอนออกไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) เป็นแนวคิดการบริโภคยุคใหม่ที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องครอบครองทรัพย์สิน แต่ใช้ทรัพย์สินที่ผู้อื่นนำมาให้เช่า โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการใช้บริการด้วยการสแกนบาร์โค้ด ธุรกิจนี้กำลังเฟื่องฟูอย่างมากในจีน มีให้เช่าทุกอย่างแม้แต่ลูกบาสเก็ตบอล ค่าเช่าชั่วโมงละ 2 หยวน (ราว 10 บาท) หรือร่ม ค่าเช่าครึ่งชั่วโมงครึ่งหยวน (ราว 2.50 บาท)
อย่างไรก็ตาม บริษัทสตาร์อัพในจีนเหล่านี้พึ่งพาเงินจากนักลงทุนหรือบริษัทเงินทุนเป็นหลัก หากความต้องการบริโภคไม่ยั่งยืน เงินทุนเหล่านี้ก็พร้อมถอนตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ดังที่เกิดขึ้นกับแอปพลิเคชันกรุ๊ปปอง ซึ่งเป็นบริการขายดีลที่รุ่งเรืองและล่มสลายภายในปี 2553-2555 เพราะมีการตัดราคากัน
ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปันในจีนจะเติบโตถึงร้อยละ 40 ในปีนี้โดยมีมูลค่าตลาด 4.83 ล้านล้านหยวน (ราว 24 ล้านล้านบาท) และอาจครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ถึง 1 ใน 10 ภายในปี 2563 ขณะที่บริษัทตรวจสอบบัญชีไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอร์สคาดว่า ธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปันที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงได้แก่ ยานยนต์ ท่องเที่ยว การเงิน การจ้างคน การถ่ายทอดดนตรีและวิดีโอ โดยอาจมีรายได้ทั่วโลกรวมกัน 335,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 11.44 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 512,430 ล้านบาท) ในปัจจุบัน.- สำนักข่าวไทย