กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – จบประมูลคลื่นวิทยุ FM ครั้งแรกในไทย หลังประมูลข้ามวัน บมจ.อสมท พอใจภาพรวม ไม่เกินงบฯ ที่บอร์ดอนุมัติ คว้า 6 คลื่นใน กทม. ส่วนคลื่นต่างจังหวัดจะตรวจสอบความถูกต้องที่ กสทช. ก่อนสรุปจำนวน หลังพบปัญหาระบบขัดข้อง
การจัดการประมูลคลื่นความถี่ในระบบ FM สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ และเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาต มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล จำนวน 71 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นความถี่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 คลื่นความถี่ ภาคเหนือ จำนวน 16 คลื่นความถี่ ภาคกลาง จำนวน 6 คลื่นความถี่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 21 คลื่นความถี่ และภาคใต้ จำนวน 20 คลื่นความถี่
สำหรับราคาเริ่มต้นการประมูล ได้มีการคำนวณโดยคำนึงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพื้นที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีราคาเริ่มต้นการประมูลสูงสุดอยู่ที่ 54,830,000 บาท ส่วนพื้นที่ให้บริการในเขตภูมิภาค ราคาเริ่มต้นการประมูลต่ำสุดคือ 105,000 บาท โดยการเสนอราคาแต่ละคลื่นจะแปรผันไปตามมูลค่าคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง โดยการเสนอราคาต่อครั้งสูงสุดคือ 500,000 บาท และต่ำสุดคือ 4,000 บาท
การประมูลแบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 60 นาที รอบแรกเริ่มประมูลเวลา 09.30-10.30 น. จำนวน 18 คลื่นความถี่ ในจำนวนนี้เป็นกรุงเทพฯ และปริมณฑล 8 คลื่นความถี่ เมื่อครบกำหนดเวลามีคลื่นวิทยุต่างจังหวัดที่ยังมีผู้ประมูลสู้ราคาใน 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ชลบุรี และมหาสารคาม จึงต้องมีการขยายเวลาประมูลครั้งละ 5 นาที ไปอีกหลายครั้ง ส่วนคลื่นความถี่ในกรุงเทพฯ ทั้ง 8 คลื่น มีผู้ยื่นประมูลสูงสุดรายเดียว
ส่วนรอบ 2 รอบ 3 และรอบ 4 ซึ่งเป็นคลื่นวิทยุในต่างจังหวัด พบว่ามีการเสนอราคาดุเดือดเช่นกัน และมีการขยายเวลา ซึ่งยังมีผู้เสนอราคาเท่ากัน จนต้องมีการจับสลาก ทำให้จบการประมูลรอบ 4 ในเวลาประมาณ 01.00 น. ล่วงเข้าวันใหม่ (22 ก.พ.)
สำหรับการประมูลครั้งนี้ บมจ.อสมท ยื่นประมูล 55 คลื่นความถี่ แบ่งเป็นคลื่นความถี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 6 คลื่น และพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 49 คลื่น
รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ที่เดินทางมาติดตามการประมูลคลื่นวิทยุ FM อย่างใกล้ชิด เปิดเผยหลังการประมูลเสร็จสิ้นว่า พอใจภาพรวมการประมูล ใช้งบฯ ไม่เกินที่บอร์ดอนุมัติ สำหรับจำนวนคลื่นที่ประมูลได้ในกรุงเทพฯ เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดรายเดียวทั้ง 6 คลื่น ได้แก่ คลื่นความถี่ FM 95 / FM 96.5 / FM 99 / FM 100.5 / FM 107 และ FM 105.5 ส่วนต่างจังหวัด ที่ยื่นประมูล 49 คลื่น วันนี้ (22 ก.พ.) จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องกับ กสทช. เพื่อสรุปจำนวนที่แน่ชัด เนื่องจากพบปัญหาติดขัดในการประมูลทุกรอบ สำหรับแผนการดำเนินงานหลังจากนี้ จะยังคงมุ่งเน้นการนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์หลักใน 3 ด้าน คือ ความสามารถในการสร้างผลกำไร ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการครอบคลุมพื้นที่ และความรับผิดชอบในบทบาทภารกิจทางสังคมของ บมจ.อสมท ที่มุ่งสร้างเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
จากการสังเกตของทีมข่าวพบว่า ผู้ร่วมประมูลรายอื่นก็พบปัญหาเช่นกัน โดยมีการร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเกรงจะส่งผลให้การประมูลไม่โปร่งใส อาทิ คีย์ราคาประมูลแล้วกดไม่เด้ง ดีเลย์ ระบบมีการออฟไลน์เกือบ 10 นาที ทำให้เสียโอกาสในการประมูล เมื่อสอบถามได้รับคำตอบเพียงว่า ระบบไม่เสถียร จึงอยากได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประมูลเสร็จสิ้น จะมีการประชุม กสทช. เพื่อรับรองผลการประมูล และสำนักงาน กสทช. จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เท่ากับราคาที่ชนะการประมูลรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หากไม่ชำระให้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนดจะถูกริบหลักประกันและห้ามเข้าร่วมการประมูล 2 ปี พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่ต้องจัดประมูลใหม่. – สำนักข่าวไทย