เวลลิงตัน 17 ก.พ. – คณะนักวิทยาศาสตร์ของนิวซีแลนด์ค้นพบลูกปลาคิเมียรา (chimaera) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาฉลามผี (ghost shark) ซึ่งเป็นปลาหายากและไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก โดยที่ปลาชนิดนี้มักอาศัยอยู่ใต้ท้องทะเลลึก
ดร. บริต ฟานุชชี หนึ่งในคณะนักวิทยาศาสตร์ของนิวซีแลนด์ เผยว่า ได้ค้นพบลูกปลาฉลามผีที่เพิ่งฟักออกจากไข่ใต้ท้องทะเลลึก 1.2 กิโลเมตร นอกชายฝั่งเกาะใต้ของนิวซีแลนด์โดยบังเอิญ ในขณะที่กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรใต้น้ำ การค้นพบในครั้งนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจพัฒนาการในช่วงเยาว์วัยของปลาชนิดนี้ได้ เนื่องจากลูกปลาฉลามผีมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากปลาฉลามผีตัวเต็มวัย ทำให้การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งยังระบุว่า ปลาทะเลลึกหลายสายพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบเห็นได้ยาก โดยเฉพาะปลาฉลามผี เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก
คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยน้ำและอากาศแห่งชาติของนิวซีแลนด์เชื่อว่า ลูกปลาฉลามผีตัวนี้เพิ่งฟักออกจากไข่ เนื่องจากท้องของมันยังเต็มไปด้วยไข่แดง ตัวอ่อนของปลาฉลามผีจะเติบโตอยู่ในเปลือกหุ้มไข่ที่แม่ปลาฉลามวางไว้ที่ก้นทะเล และตัวอ่อนจะกินไข่แดงที่อยู่ในเปลือกหุ้มไข่จนกระทั่งฟักตัว อย่างไรก็ดี ปลาฉลามผีไม่จัดเป็นปลาฉลาม แต่อยู่ในสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับปลาฉลามและปลากระเบน เนื่องจากพวกมันเป็นปลากระดูกอ่อน (cartilaginous) ซึ่งมีโครงสร้างกระดูกที่เป็นเซลล์กระดูกอ่อนอย่างเดียว จึงทำให้พวกมันมีรูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดและบอบบาง.-สำนักข่าวไทย