กทม. 4 มิ.ย.-อาลัย “อิทธิพล ตั้งโฉลก” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2551 ถึงแก่กรรม ในวัย 75 ปี
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2551 ถึงแก่กรรม ในวันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 13.20 น.ณ บ้านพัก เลขที่ 49 ซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร เนื่องจากโรคพาร์กินสัน สิริรวมอายุ 75 ปี 3 เดือน โดยทายาทได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน 2564 เวลา 16.00 น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2564 เวลา 17.00 น. ณ อาคาร พระครูประจักษ์ วัดธาตุทอง ถ.สุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้นทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะดำเนินการเรื่องขอพระราชทานเพลิงศพให้ในโอกาสต่อไป
ทั้งนี้ สวธ.ได้ให้การช่วยเหลือเงินเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ เป็นจำนวน 20,000บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท(หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
สำหรับประวัติของ ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2551 เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2489 ณ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาศิลปะจากโรงเรียนช่างศิลป์ ได้รับปริญญาศิลปะบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 (ภาพพิมพ์) จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาศิลปมหาบัณฑิต (จิตรกรรม) จากมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ตรี คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก เป็นทั้งศิลปิน และอาจารย์สอนศิลปะ เป็นผู้มีความเป็นเลิศใน “ศาสตร์” และ “ศิลปะ” สามารถรู้ทันความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการในวงการศิลปะ “ไม่ตกยุค” หรือ “พ้นยุค” มีความมุ่งมั่นศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และพัฒนาความสามารถอยู่ตลอดเวลาใช้ความรู้และประสบการณ์จากการสอน การวิจารณ์ การดูงานศิลปะมาเรียบเรียงจัดให้เป็นระบบ ถ่ายทอดเป็นผลงานด้านวิชาการได้ อันเป็นประโยชน์ ต่อวงการศึกษาศิลปะอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานที่แสดงถึงคุณค่า ความงาม อารมณ์ และความรู้สึก ได้อย่างสะเทือนใจ ผลงานได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับเหรียญทอง ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ รวม 3 ครั้ง จึงได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม เมื่อ พ.ศ.2522 นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ให้แก่ผู้ศึกษาวิชาศิลปะได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับงานการกุศล ดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดี แก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังต่อไป จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2551 .-สำนักข่าวไทย