กรุงเทพฯ 31 พ.ค. – กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีบวงสรวงต้อนรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น หลังสูญหายจากประเทศไทยร่วม 50 ปี กลับคืนสู่แผ่นดินไทย ก่อนเปิดให้ชม 3 เดือน ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีบวงสรวงต้อนรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว กลับคืนสู่แผ่นดินไทย โดยมีนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย เข้าร่วม
รมว.วัฒนธรรม ย้ำการได้ทับหลังปราสาทหนองหงส์และเขาโล้น คืนมาในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของสหรัฐกับประเทศไทย การส่งมอบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่นครลอสแอนเจลิส และทับหลังเดินทางมาถึงไทยในวันที่ 28 พฤษภาคม ก่อนเคลื่อนย้ายออกจากสนามบินสุวรรณภูมิมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ผ่านมา และทำพิธีเปิดห่อบรรจุภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์การรับและมอบโบราณวัตถุ โดยมีภัณฑารักษ์และผู้เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบสภาพและบันทึกข้อมูล
ภายหลังเสร็จพิธีบวงสรวงในวันนี้ กรมศิลปากรจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีรับมอบโบราณวัตถุอย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมผ่านนิทรรศการ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับคืนสู่ประเทศไทย” ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นเวลา 3 เดือน
สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว สูญหายไปจากที่ตั้งเมื่อปี 2509-2511 แต่ไม่ปรากฏรายงานหรือบันทึกเกี่ยวกับการสูญหาย ต่อมาได้ปรากฏทับหลัง 2 รายการนี้อยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าถูกโจรกรรมจากกลุ่มนักค้าวัตถุโบราณ ไปในช่วงเดียวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ขณะที่การติดตามทับหลังทั้ง 2 รายการ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2560 เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศ สืบเนื่องมาจากการสืบค้นข้อมูลโบราณวัตถุของไทยที่อยู่ในต่างประเทศของกรมศิลปากร รวมทั้งกระแสเรียกร้องของนักวิชาการและประชาชน ให้ติดตามโบราณวัตถุของไทยในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกกลับคืนมา ซึ่งมีมาก่อนหน้านั้นเป็นระยะ
จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติให้ติดตามทับหลังทั้ง 2 รายการ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำข้อมูล กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 กรมศิลปากรได้ส่งข้อมูลให้กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ซึ่งหน่วยงานสหรัฐที่รับผิดชอบในคดี คือสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ จากนั้นมีการนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล ในที่สุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียยอมรับว่าทับหลังเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย และยอมให้ยึดทับหลังส่งคืนประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย