รัฐสภา 21 เม.ย. -รองประธาน กมธ.สาธารณสุข วุฒิสภา เตือนประชาชนยกระดับป้องกันโควิด-19 สูงสุด หลังพบเชื้อกระจายรวดเร็ว ติดง่ายขึ้น กังวลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงสูง
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการรับมือของประชาชนต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ไวรัสโคโรนาเป็นสารพันธุกรรมสายเดี่ยว หรือ RNA เมื่อมีการเพิ่มจำนวนจะเกิดความผิดพลาดแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตที่เป็นสารพันธุกรรมสายคู่ หรือ DNA ที่จะมีความแม่นยำมากกว่า โดยการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่นเดียวกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกลายพันธุ์เป็นระยะ ๆ ทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนป้องกันควบคู่กันไป
นพ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ก่อโรครุนแรงขึ้น จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อังกฤษ แอฟริกาใต้ บราซิล อเมริกา และไนจีเรีย โดยสายพันธุ์อังกฤษแพร่กระจายรวดเร็วและกว้างขวางมากกว่าเดิม แต่ก่อโรคไม่รุนแรง ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แพร่กระจายได้รวดเร็วและก่อโรครุนแรง ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย คือ สายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ โดยสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ตรวจพบในคนไทยที่เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้และอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ซึ่งได้รับการรักษาจนปลอดเชื้อ ทำให้ไม่พบการระบาดในประเทศไทย ขณะที่สายพันธุ์อังกฤษ พบการระบาดในสถานบันเทิง จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ โดยศูนย์วิจัยไวรัสของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตรวจยืนยันสายพันธุ์ตรงกันกับที่ระบาดในกัมพูชา ซึ่งคาดว่าอาจเป็นการติดมาจากพนักงานสถานบริการหรือแรงงานกัมพูชาที่ข้ามไปมาระหว่างประเทศ
“การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ระลอกนี้ ประชาชนต้องยกระดับการป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อให้มากที่สุด เนื่องจากเชื้อไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมักไม่แสดงอาการ อีกทั้งยังพบจำนวนเชื้อไวรัสในโพรงจมูกและลำคอในปริมาณมากกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดิม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้การติดเชื้อเกิดได้ง่ายขึ้น แม้เพียงการพูดหรือการร้องเพลง โดยต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป” นพ.เฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย