สุพรรณบุรี 18 พ.ค. – อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยนำลูกเสือโคร่งที่ตรวจยึดจากฟาร์มผิดกฎหมาย ส่งไปดูแลที่สวนสัตว์บึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี ส่วนผู้ครอบครองถูกดำเนินคดีหลายข้อหา
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก ว่า ได้รับมอบลูกเสือโคร่ง เพศเมีย 1 ตัว อายุประมาณ 3-4 เดือน จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เรียบร้อยแล้ว โดยลูกเสือโคร่งตัวนี้หลุดออกมาอยู่ในชุมชนตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาเจ้าของอ้างว่าเป็น “ไลเกอร์” ที่เพนต์ลายให้คล้ายเสือโคร่ง เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์
ทั้งนี้ เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีพิรุธ จึงสั่งการให้ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ชุดปฏิบัติการพิเศษ 1362 สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา ร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าตรวจสอบที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ของนายโยธิน (ขอสงวนนามสกุล) ที่ระบุว่าเป็นเจ้าของสัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ ลูกเสือโคร่ง 1 ตัว ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่หลุดออกมาในชุมชน ซึ่งไม่ใช่ “ไลเกอร์” แต่อย่างใด
ลูกเสือโคร่งตัวนี้ ไม่มีเอกสารหลักฐานการครอบครองของทางราชการและไม่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป) นอกจากนี้พบลูกสิงโต 1 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าควบคุมที่มีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ป่า (เลขไมโครชิป)
คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 หลายฐานความผิด ดังนี้
– มาตรา 15 ฐาน “ปล่อยเป็นอิสระซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) พ้นจากการดูแลของตน” มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– มาตรา 17 ฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครอง (ลูกเสือโคร่ง) โดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษตามมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ฐาน “ครอบครองสัตว์ป่าควบคุม (ลูกสิงโต) โดยไม่ได้รับอนุญาต” มีโทษตามมาตรา 90 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– มาตรา 19 วรรคสอง ฐาน “ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้ง การรับแจ้ง ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด (เคลื่อนย้ายลูกสิงโตโดยไม่ได้รับอนุญาต)” มีโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากนั้นควบคุมนายโยธิน ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มดังกล่าว พร้อมตรวจยึดลูกเสือโคร่งและลูกสิงโต นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้พนักงานสอบสวนเรียกเจ้าของฟาร์มมารับทราบข้อกล่าวหาและดำเนินคดีต่อไป
สำหรับสัตว์ป่าของกลาง ขออนุมัติพนักงานสอบสวน นำลูกเสือโคร่งส่งมอบให้ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก (สวนสัตว์บึงฉวาก) ส่วนลูกสิงโตรับฝากไว้ที่ฟาร์มสิงโตขาวบางคล้า หมู่ที่ 5 ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อดูแลและเก็บรักษา จนกว่าคดีถึงที่สิ้นสุด
นายอรรถพล กล่าวถึงไลเกอร์ (Liger) ซึ่งเป็นสัตว์ลูกผสมที่เกิดจากสิงโตตัวผู้กับเสือตัวเมีย ขณะนี้ยังไม่ใช่สัตว์ป่าควบคุม จึงสั่งการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส หาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องข้อกฎหมายแล้ว หากจะระบุชนิดพันธุ์เพิ่มจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย จากการตรวจสอบข้อมูลการเลี้ยงไลเกอร์ในประเทศไทยพบ 15 ตัว ได้แก่ ที่สวนสัตว์ศรีอยุธยา ไลอ้อน ปาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สวนสัตว์หัวหินซาฟารี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และฟาร์มนายอัศวิน (ฟาร์มส่วนตัว) กรุงเทพมหานคร
ส่วนข้อมูลการแจ้งครอบครองสัตว์ป่าควบคุม ชนิดสิงโต ล่าสุดทั่วประเทศมี 291 ตัว.-512-สำนักข่าวไทย