แนะปรับมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ พร้อมฝึกซ้อมแผนรับมือ

รัฐสภา 14 ก.พ.-“เอกนัฏ” เสนอญัตติทบทวนมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ แนะปรับให้ทันสมัยและมีแผนรับมือสถานการณ์ ป้องกันเหตุขัดแย้งบานปลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว “จุรินทร์” ขอให้ปรับปรุง พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย ปี 60 พร้อมให้ กมธ.นิรโทษฯ รับเรื่องไปประกอบพิจารณา


นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ ว่าที่ตัดสินใจเสนอญัตติด่วนในวันนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีการเผยแพร่การรบกวนก่อกวนขบวนเสด็จ สร้างความสะเทือนใจให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย เพราะจากที่เห็นคลิป รู้สึกตกใจ เนื่องจากขบวนเสด็จที่ใช้เป็นทางสัญจรเป็นขบวนที่สั้นมาก เห็นได้ชัดว่าการถวายความปลอดภัยในวันนั้น ดำเนินการด้วยความระมัดระวังไม่ให้กระทบกับการจราจรของพี่น้องประชาชน และไม่ปรากฏว่ามีลักษณะการปิดถนน หรือปิดกั้นการสัญจรของประชาชน มีการกัน เป็นจังหวะ เป็นช่วง ให้การจราจรไหลไปตามปกติ แต่ปรากฏว่ามีรถของผู้ก่อเหตุวิ่งมาด้วยความเร็ว เจตนาชัดเจน โดยขบวนเสด็จผ่านไปแล้วยังพยายามวิ่งไล่ขบวนเสด็จ จนรถที่ปิดท้ายต้องมากันรถผู้ก่อเหตุออกไป และหลังจากนั้นปรากฏขึ้นอีกคลิปหนึ่ง ทำให้เห็นเจตนาของผู้ก่อเหตุในวันนั้นว่าคืออะไร

นายเอกนัฏ กล่าวว่า หลังจากเห็นคลิปแล้ว เชื่อว่าความรู้สึกของตนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน และรู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนหลายคน ซึ่งตนรู้สึกโกรธมากว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนี้ แต่มีประโยคหนึ่งที่ทำให้ตนรู้สึกลดโทสะลง คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านตรัสไว้ว่า Thailand is the land of compromise หรือ ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม ทำให้ดึงสติ ลดความโกรธลงมา


“ความจริงแล้วพฤติกรรมแบบนี้ ไม่ต้องพูดถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับขบวนเสด็จ แค่มารยาททางสังคม เวลาเดินจะเข้าลิฟต์ยังต้องหลีกทางให้กันและกัน แม้กระทั่งบนถนน ก็มีมารยาทในการสัญจรการจราจร และสิ่งที่ตนคาดหวังหลังเกิดเหตุ คือ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ รอมาเกือบสัปดาห์ ปรากฏว่าท่าทียังไม่ชัดเจน จนกระทั่งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ผู้ก่อเหตุยังเหิมเกริมไปทำโพลที่ BTS สยาม จนเกิดการกระทบกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างประชาชนที่ไม่พอใจกับผู้ก่อเหตุ” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า ที่เสนอญัตติไม่มีความตั้งใจที่จะมาพูดเพื่อซ้ำเติมความร้าวฉาน ความแตกแยกที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในความรู้สึกของทั้งสองฝั่ง แต่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีก และถ้าเราปล่อยปละละเลยในที่สุด สถานการณ์ตามที่เราได้เห็น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ เริ่มมีการประท้วง มีการปะทะกันในหมู่ประชาชน ถ้าเราไม่รีบบริหารจัดการจะบานปลายไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรงที่อาจบานปลายถึงความขัดแย้งระดับประเทศ

“ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยบังคับกฎหมายในทันที เพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งบังคับใช้กฎหมาย ไม่มีอะไรที่อยู่เหนือกฎหมาย การใช้สิทธิเสรีภาพมีกรอบชัดเจนว่าต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น และต้องไม่กระทำความผิดกฎหมาย ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น” นายเอกนัฏ กล่าว


นายเอกนัฏ ยังเสนอให้ทบทวนระเบียบมาตรการต่างๆ รวมถึงแผนการถวายการอารักขาความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จ แม้ปัจจุบันกฎหมายที่ใช้ ถือว่ามีความทันสมัย ตามพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย แต่ในความเห็นของตน เนื่องจากภารกิจนี้มีความสำคัญ และเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จนทำให้ตนกังวลว่า หากเราไม่ทบทวนมาตรการให้เข้มงวดจะเป็นการปล่อยปละละเลย จนกระทั่งมีการกระทำในลักษณะแบบนี้เป็นแฟชั่น เป็นค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้น และไม่อยากจินตนาการหากปล่อยให้บานปลายมากไปกว่านี้

ทั้งนี้ เห็นควรต้องมีการปรับปรุงระเบียบ และแผนในการปฏิบัติที่ยังใช้ของเดิมตั้งแต่ปี 2548 ในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งและบริบททางสังคมเปลี่ยนไปเยอะ ใน 10 ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งนิยามของภัยคุกคาม หรือความพยายามที่จะก่อกวนขบวนเสด็จ หรือก่อเหตุให้เกิดอันตรายก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะไม่สามารถจินตนาการว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น หากกฎหมายอัปเดตแล้ว ระเบียบแผนมาตรการจะต้องอัปเดตตามกฎหมายด้วย จะต้องมีความกระชับ มีความชัดเจน มีเจ้าภาพ มีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน ไม่อยากให้เกิดข้อถกเถียงในการปฏิบัติหน้าที่ว่า เหตุเกิดขึ้นแล้วเป็นของใคร เรื่องของการถวายความปลอดภัยการถวายพระเกียรติถือเป็นภารกิจสำคัญมากๆ  ต้องมีความชัดเจนและสิ่งสำคัญที่สุดคือการฝึกซ้อม

“เห็นไหมครับ ก่อเหตุปุ๊บ ถ่ายคลิปทันที แบบนี้เจ้าหน้าที่จะต้องมีการฝึกซ้อม แผนรองรับ อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ อะไรที่ประชาชนผู้ก่อเหตุไม่สามารถทำได้  เมื่อเกิดเหตุสิ่งแรกที่จะต้องสื่อสารกับผู้ก่อเหตุคืออะไร เพราะประโยคนั้นเป็นประโยคที่สำคัญที่สุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว แต่ผมไปดูคลิป ผมขอไม่วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มากไปกว่านี้ เพราะเข้าใจว่าในส่วนของแผนมาตรการต่างๆ อาจจะลงไม่ชัดเจน ไม่มีการฝึกซ้อม ไม่มีคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ แต่ผมหวังว่าหลังจากเหตุการณ์นี้จะไม่มีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นอีก”นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารกับประชาชน เพราะต้องยอมรับว่าในภารกิจการถวายความปลอดภัย ไม่มีที่ไหนในโลกที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเลย แต่เชื่อว่า พี่น้องประชาชนเข้าใจ และถือว่าเป็นความปลอดภัยต่อสาธารณะด้วย

“ขอส่งสัญญาณผ่านรัฐบาลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปรับปรุงสื่อสารถึงหน่วยงานต่างๆ เพราะกังวลว่า ถ้าปล่อยผ่านละเลย และเราไม่เข้มงวดเหตุการณ์แบบนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำไปสู่ความวุ่นวายเกิดการปะทะกันในหมู่ประชาชน เกิดความแตกแยก และขอย้ำว่าพวกเราอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ไม่อยากให้มีพฤติกรรมหรือค่านิยมแฟชั่นที่ออกมาบั่นทอนสถาบัน ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจขอเสนอเป็นญัตติด่วน เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้กฎหมายทบทวนระเบียบ แผน และมาตรการการถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัยมีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์กับประชาชน ถือเป็นความปลอดภัยให้สมพระเกียรติเพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเสนอญัติดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า ตนเองและพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจน การให้ความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่จะต้องการธำรงไว้ซึ่งบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 อย่างที่อารยะประเทศทำกัน และมีจุดยืนในการถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งการถวายความปลอดภัยนับตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ พระราชอาคันตุกะ ซึ่งการถวายความปลอดภัยให้กับบุคคลเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยทั้งประเทศเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จึงเป็นเหตุที่ตนเองและสมาชิกจำเป็นต้องเสนอญัตตินี้เข้ามา และไม่อาจจะเพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าวได้ โดยประสงค์ให้สภาฯ มีมติให้ส่งความเห็นไปยังรัฐบาลรับไปพิจารณาดำเนินการ และให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมของสภาผู้แทนราษฎรรับไปประกอบการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ตนมีความเห็นต่อพฤติกรรมคุกคามกระบวนเสด็จอย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1. ตนถือว่าเป็นการกระทำอันไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เกินกว่าที่คนไทยผู้จงรักภักดีจะยอมรับได้และเป็นการย่ำยีพระผู้เป็นดวงใจของประชาชน  2.การที่ขบวนเสด็จไม่ปิดถนน ยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างชัดแจ้งเป็นประจักษ์เหนือคำบรรยายใดๆ แม้จะต้องทรงงานหนัก และต้องเสด็จให้ทันเวลาก็ตาม

3.ตนเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพ ต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครฐานันดรใด แล้วต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฎหมาย เฉกเช่นอารยะประเทศทุกประเทศในโลกนี้ที่เขาทำกัน

นอกจากนี้ ผู้มีหน้าที่ถวายความปลอดภัยนอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้วกลไกสำคัญ คือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560 มาตรา 6 ระบุว่าให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งซึ่งประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย หรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย

“ผมไม่ประสงค์จะทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้สั่งปฏิบัติราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องยอมรับว่าท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า เหตุเกิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดเหตุปะทะกันที่สถานีรถไฟฟ้าสยาม จนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากเกิดเหตุ 7-8 วันนายกรัฐมนตรีจึงเรียกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงมาตรการเรื่องการรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จ” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขอเสนอข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อให้สภาพิจารณา 1. รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้เป็นไปด้วยความปลอดภัยสมพระเกียรติด้วยความสำนึก กระตือรือร้น จงรักภักดี แล้วควรเร่งรัดดำเนินการทบทวนมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

2.ให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรม บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดไม่ว่ากับฝ่ายใด เพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต

3.ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมาก ทั้งในสภาและทั้งในกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม รัฐบาลต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่ส่งเสริมให้นิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112

4.รัฐบาลควรตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบรอบด้านว่า สมควรจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย พ.ศ 2560 หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะต่อผู้ที่ละเมิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือเมื่อเกิดเหตุผู้บังคับใช้กฎหมายต้องนำบทบัญญัติกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงบังคับใช้ เช่นมาตรา 112 มาตรา 116 เป็นต้น เรื่องนี้จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าเหมาะสมสมควรหรือไม่และจะดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไรต่อไป รวมทั้งการพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องทบทวนกฎระเบียบมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทั้ง 4 ข้อนี้ และเพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป และในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนหนึ่งและในฐานะพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีเช่นเดียวกับคนไทยทั่วประเทศ ตนเองขอถวายกำลังใจแก่องค์สมเด็จพระเทพฯ ด้วยความจงรักภักดียิ่ง.-312.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ประหารชีวิตแอมไซยาไนด์

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์”

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์” ส่วนอดีตสามี คุก 1 ปี 4 เดือน “ทนายพัช” คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ ให้ผู้เสียหายกว่า 2 ล้านบาท

นายกฯ ถกตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก

นายกฯ ถกแต่งตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก ยึดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ พลิกโผ ‘สยาม บุญสม’ ผงาดคุมนครบาล ‘สันติ ชัยนิรามัย’ นั่ง ผบช.ปส. ‘ไตรรงค์ ผิวพรรณ’ โยกคุมไซเบอร์ ‘ภาณุมาศ บุญญลักษม์’ ขึ้นเป็น ผบช.สตม.

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้าน

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้านบาท จำนวนนี้พบโอนจาก “บอสพอล-บอสปีเตอร์” ด้วย เร่งขยายผลมีบอสรายอื่นโอนเข้าบัญชีดังกล่าวอีกหรือไม่

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยเหนือ-อีสาน อากาศเย็นในตอนเช้า ภาคใต้ฝนตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุฯ เผยภาคเหนือ ภาคอีสาน มีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

“เอวา” เสือโคร่งสายแบ๊ว ดาวรุ่งดวงใหม่

หน้าตาที่น่ารักบ้องแบ๊วเหมือนแมวตัวโต ตกหัวใจคนรักสัตว์กันไปเต็มๆ สำหรับน้องเอวา เสือโคร่งสายแบ๊วของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นอกจากหน้าตาน่ารักแล้วยังมีความสามารถหลายอย่าง จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ที่ผู้คนแห่ไปชมความน่ารักกันอย่างคึกคัก คาดจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวไปที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต้อนรับอบอุ่น “โอปอล” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ถึงไทย

กลับถึงไทยแล้ว “โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ปรากฏตัวในชุดไทย สวยสง่า แฟนนางงามต้อนรับอย่างอบอุ่น

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก