อิสราเอล 8 ต.ค.-สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส การปะทะทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 600 ราย ขณะที่อิสราเอลลั่นเดินหน้าตอบโต้ฮามาสเต็มรูปแบบ ที่มาและปูมหลังของความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่บ่มเพาะเกิดขึ้นมานานหลายสิบปี
เมื่อวานนี้ กองกำลังฮามาสของปาเลสไตน์ ได้เริ่มปฎิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ที่เรียกว่า ‘พายุอัลอักซอ’ (Al-Aqsa Storm) ด้วยการระดมยิงจรวดโจมตีอิสราเอลกว่า 3,000 ลูก ส่งนักรบแทรกซึมข้ามพรมแดนของอิสราเอล เข้าไปไล่สังหารผู้คนในหลายชุมชน เป็นลอบเข้าไปก่อการครั้งใหญ่ในอิสราเอลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความขัดแย้งกว่า 70 ปี แล้วจับตัวประกันซึ่งมีทั้งทหารและพลเรือนจำนวนมากกลับเข้าไปยังฉนวนกาซา
รัฐบาลอิสราเอลโดยนาย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีประกาศว่า อิสราเอลกำลังเข้าสู่ภาวะสงคราม แล้วจึงเริ่มปฏิบัติการตอบโต้ ครั้งใหญ่ เพื่อล้างแค้นให้กับชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตแล้วมากกว่า 300 ราย บาดเจ็บมากกว่า 1,200 คน ในวันนี้ยังได้เตือนให้ชาวปาเลสไตน์ในพื้นทีเป้าหมายให้หลบหนีออกจากบ้านไป เพื่อรักษาชีวิต นอกจากนั้นยังประกาศตัดน้ำตัดไฟ ตัดเชื้อเพลิง และห้ามการขนส่งสินค้าเข้าไปยังฉนวนกาซาด้วย
สงครามรอบนี้ เป็นการปะทะกันระหว่างชนสองสายเลือดที่เคยอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินนี้มานานตั้งแต่โบราณ จนเมื่อร้อยปีที่ผ่านมา การเมืองโลกทำให้ทั้งสองขยายความขัดแย้ง โดยมีกลุ่มประเทศของแต่ละฝ่ายคอยหนุนหลังดินแดนนี้ ในอดีตคือ ดินแดนปาเลสไตน์ โดยมีชาวยิว เป็นชนกลุ่มน้อย จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษเข้ายึดครอง และในเวลานี้เองที่ เริ่มมีความเคลื่อนไหวต่อตั้งรัฐชาวยิว ให้ชาวยิวที่แตกกระสานในหลายประเทศทั่วโลกกลับไปสร้างบ้านแห่งชาติ บนดินแดนที่บรรพบุรุษ อาศัยอยู่เก่าก่อน แต่นั่นคือ ปมขัดแย้งใหญ่ เพราะ ดินแดนนี้เป็นดินแดนแห่งบรรพบุรุษของชาวปาเลสไตน์เช่นกัน ตั้งแต่วันแรกของการสร้างรัฐอิสราเอล ก็ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ
ในปี 1948 ชาวยิว สถาปนารัฐเอกราช อิสราเอล ซึ่งต้องผ่านการทำสงครามกับชาวปาเลสไตน์และพันธมิตรชาวอาหรับ แต่เมื่อหยุดยิงกันได้ ในปีถัดมา อิสราเอลเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ ทำให้ปาเลสไตน์หลายแสนคนต้องอพยพออกจากบ้านของตัวเอง เช่นเดียวกับสงครามและการต่อสู้หลายครั้งต่อมา สงครามครั้งใหญ่อีกหนเมื่อปี 1967 ที่รู้จักกันในชื่อ สงคราม 6 วัน เป็นวังวนแห่งความขัดแย้งที่ จบลงโดยไม่มีการบรรลุข้อตกลงใด ๆ จบลงที่ต่างฝ่ายก็ต่างโทษกันและกัน ว่าเป็นต้นเหตของความขัดแย้ง และมักจะจบลงด้วยการช่วงชิงความได้เปรียบของอิสราเอล
ปฏิบัติการของฮามาสเมื่อวานนี้ที่เป็นชนวนสงครามครั้งล่าสุด อาจเทียบเคียงได้กับสงคราม โยม คิปเปอร์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกันนี้ตรงกับวันสำคัญทางศาสนาของชาวยิวเหมือนกัน และเป็นการใช้วิธีโจมตีแบบสายฟ้าแลบเหมือนกัน แต่ที่อาจต่างออกไป เมื่อ 50 ปีที่แล้วเป็นการสู้รบระหว่างกองทหารของอิสราเอลกับหล่าชาติอาหรับ แต่ในครั้งเป็นกองกำลังฮามาส ที่ระดมโจมตี ทำให้เหยื่อเป็นพลเรือนมากมาย ยิ่งไปกว่า นั้นฮามาส ยังได้เรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด จับอาวุธขึ้นสู้ต่อต้านการยึดครอง
เมื่อมองให้ลึกลงไป ทำไมฮามาสถึงเลือกปฏิบัติการเช่นนี้ แม้ไม่มีหนทางจะชนะ ชิงพื้นที่คืนได่ ประการแรก หวังผลภายในปาเลสไตน์ ที่ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มองได้ ฮามาส เปิดฉากต่อสู้เพื่อชิงบารมีอิทธิพลจากองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์เวสต์แบงค์ ประการที่สอง หวังผลภายนอก ที่ขณะนี้ ศัตรูอิสราเอล กำลังสานสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นชาติยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจทำให้อิสราเอลเป็นที่ยอมรับในโลกอาหรับมากขึ้น เหมือนเช่นในอดีตที่ฮามาสเคยก่อเหตุเพื่อขัดขวางแผนสันติภาพของปาเลสไตน์ฝ่ายตรงข้ามด้วย ไม่ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ สำหรับชาวอิสราเอล และ ชาวปาเลสไตน์ ย่อมตกเป็นผู้สูญเสียทั้งสิ้น และยิ่งทำให้ปมขัดแย้งร้อยปียิ่ง.–สำนักข่าวไทย