กรุงเทพฯ 26 พ.ค. – กรมอุตุฯ ชี้ปี 66 จำนวนพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 20.6 ลูก จากค่าเฉลี่ย 26 ลูก โดยเมื่อตรวจสอบจากสำนักอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งยังไม่พบว่าจะมีพายุก่อตัวมากกว่าค่าเฉลี่ย คาดพายุที่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรงจะมี 1-2 ลูก ขอประชาชนไม่ต้องวิตก ส่วนพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” จะดึงดูดให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้หลายพื้นที่ฝนตกเพิ่มขึ้น ย้ำยังต้องเฝ้าระวังอันตรายจากลมกระโชกแรงที่อาจเกิด “วาตภัย” ได้
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ขณะนี้พายุไต้ฝุ่น “มาวาร์ (MAWAR)” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีกำลังแรงเนื่องจากยังอยู่ในทะเล โดยได้รับพลังงานจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นในระยะนี้ พายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ประมาณ 2000 กิโลเมตร คาดว่า จะเคลื่อนเข้าใกล้บริเวณหัวเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ประมาณวันที่ 28 -30 พฤษภาคม โดยจะเคลื่อนตัวโค้งกลับไปทางเกาะไต้หวันต่อไป พายุลูกนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เพียงแต่จะดึงดูดให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 – 30 พฤษภาคม
ในห้วงเวลาดังกล่าว คาดว่าจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก แล้วเคลื่อนตัวปกคลุมบริเวณภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยลงสู่อ่าวมะตะบัน ดังนั้นจะทำให้ประเทศไทยมีเมฆมาก มีฝนตกและฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น แต่จะตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงกทม.และปริมณฑล
สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกประการในห้วงที่เกิดฝนฟ้าคะนองคือ อาจเกิดลมกระโชกแรงและฟ้าผ่าได้ เนื่องจากในห้วงต้นฤดูฝนนี้ ประเทศไทยยังมีอากาศร้อนตอนกลางวัน โดยบางพื้นที่อาจมีลมกระโชกแรงจนเกิด “วาตภัย” ได้ จึงขอให้ประชาชนระวังอันตราย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง อีกทั้งไม่ควรสวมใส่โลหะและหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
ส่วนข้อกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการเกิดพายุในปี 2566 เนื่องจากมีนักวิชาการบางคนให้ความเห็นว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกถึง 29 ลูก จากค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นปีละ 26 ลูก จึงหวั่นว่า จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยายืนยันว่า ได้ติดตามสภาพอากาศและตรวจสอบข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญๆ ทั่วโลก ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า ปีนี้จะมีพายุมากกว่าค่าเฉลี่ย โดยศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (European Centre for Medium-Range Weather Forecasts หรือ ECMWF) พยากรณ์ว่า ปีนี้จะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ประมาณ 20.6 ลูก จากค่าเฉลี่ย 26 ลูก โดยน้อยกว่าปี 2565 ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (Regional Specialized Meteorological Center หรือ RSMC) รายงานว่า นับได้ 25 ลูก
สำหรับพายุที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ปีหนึ่งๆ มีกว่า 20 ลูก แต่พายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงเฉลี่ยปีละ 1-2 ลูก ซึ่งในปี 2566 คาดการณ์ว่า ยังเท่ากับค่าเฉลี่ย โดยอาจจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกว่า จะมีพายุที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากกว่าปกติ
ในกรณีที่สภาพอากาศจะมีความรุนแรงหรือแปรปรวน กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้า จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย