กรุงเทพฯ 13 มี.ค. – ตำรวจ ปส. ชี้แจงขั้นตอนดำเนินคดีเครือข่าย “ทุน มิน ลัต” แยกเป็น 2 สำนวน อัยการและพนักงานสอบสวนทำงานร่วมกัน ยืนยันทำงานตรงไปตรงมา ไม่ได้ถูกกดดันให้ช่วยเหลือฝ่ายใด
พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 บช.ปส. เปิดเผยว่า จากกรณี พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดีกับเครือข่าย “ทุน มิน ลัต” นักธุรกิจชาวเมียนมาร์ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดและฟอกเงิน โดยประเด็นการดำเนินคดีกับ เครือข่าย “ทุน มิน ลัด” คดีนี้ เริ่มจาก พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สว.สส.สน.พญาไท เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สว.กก.2 บก.สส.บช.น.
สำนวนที่ 1 เป็นคดีระหว่าง พ.ต.ท.มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ ผู้กล่าวหา กับ นาย “ทุน มิน ลัด” กับพวกรวม 10 คน ผู้กล่าวหามีการดำเนินการยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหา รวม 6 ราย ในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวน (ชั้นการสืบสวนความผิดก่อนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน) ต่อมา ผู้กล่าวหาได้มีการจับกุมตัวผู้ต้องหา รวม 4 ราย ส่งให้ บช.ปส. ดำเนินคดี (หลบหนี 2 ราย) และผู้กล่าวหามีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ นายอุปกิต เพิ่มเติม 1 ราย รวมเป็น 7 ราย
ต่อมา อสส. ได้พิจารณาสำนวนที่ 1 เห็นว่า “คดีนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด” ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และมีคำสั่งมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการ โดยสำนวนแรกพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้มีสอบสวนร่วมกันและมีความเห็นว่าพฤติการณ์ผู้ต้องหาในคดีเข้าข่ายเป็น “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 เห็นควรให้แจ้งข้อหาในความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่พบเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง จากนั้น คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการสำนวนที่ 1 ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 9 ราย เนื่องจากผู้ต้องหาจำนวน 4 ราย มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาใกล้ครบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับกรณี นายอุปกิต ที่ร้องทุกข์เพิ่มเติมในภายหลังได้มีการแยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวน
สำนวนที่ 2 เป็นการกล่าวหา นายอุปกิต เป็นผู้ต้องหาเพิมเติมภายหลังในชั้นการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้มีการแยกดำเนินคดีเป็นอีกสำนวน ซึ่ง อสส. ได้พิจารณาสำนวนที่ 2 เมื่อ 26 ม.ค.66 ยังคงเห็นว่า คดีส่วนนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร เช่นเดียวกันกับสำนวนที่ 1 จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด ตาม ป.วิอาญา มาตรา 20 จึงมอบหมายให้ ผบก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และมอบหมายให้พนักงานสอบสวน บก.ปส.3 เป็นพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการสำนักงานสอบสวน รวม 7 ท่าน ซึ่งมี นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะพนักงานอัยการเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการก็ได้ร่วมกัน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อย่างรวดเร็ว
โดยมีประเด็นข้อสงสัยที่ปรากฏในสื่อสาธารณะหลายสื่อมีเนื้อหาระบุว่า “ศาลได้ให้พนักงานสอบสวนไปออกหมายเรียกเนื่องจาก นายอุปกิต เป็น สว. ภายใน 15 วัน แล้วเหตุใดพนักงานสอบสวนไม่ออกหมายเรียกตามที่ศาลสั่งการ” ประเด็นดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ได้พิจารณาร่วมกันตลอด เห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนหลายประการยังไม่มีความสมบูรณ์เนื่องจากมีเอกสารที่ไม่ใช่ภาษาไทย มากกว่า 1,000 แผ่น จะต้องจัดแปลให้เป็นภาษาไทย เพื่อที่จะพิสูจน์ความผิดได้ซึ่งมีรายละเอียดพยานหลักฐานที่สำคัญมาก ประกอบกับอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งการให้สอบสวนเพิ่มเติมในสำนวนที่ 1 ซึ่งมีรายละเอียดพยานหลักฐานเกี่ยวพันกับผู้ต้องหาในสำนวนที่ 2 ด้วย รวม 4 ประเด็น ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ดำเนินการไปแล้วหลายประเด็น คงเหลือประเด็นที่สำคัญที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ อาทิ การสั่งให้สอบสวนเกี่ยวกับการซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายค่าไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2551 – ปัจจุบัน การตรวจสอบบัญชีเงินฝากและเส้นทางการเงินของบัญชีที่เกี่ยวข้อง ประมาณกว่า 500 บัญชีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าไฟฟ้า และพิจารณาว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงขบวนการเครือข่ายยาเสพติดกลุ่มนี้หรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบกรรมการผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลในต่างประเทศ เพื่อใช้ในการแจ้งข้อเท็จจริงและแจ้งข้อหากับนิติบุคคลต่างประเทศภายในกำหนดอายุความ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดในสำนวนได้ทั้งหมด จึงขอชี้แจงความคืบหน้าว่า
- อำนาจในการสอบสวนคดีนี้ ตามมาตรา 20 ป.วิอาญา พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน อำนาจและหน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ และให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินคดีจึงเป็นการดำเนินการเห็นชอบร่วมกันทั้งสิ้น
- การสอบสวนในคดีอาญา ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา โดยต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด และพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยต้องไม่มีประเด็นสงสัย และต้องชี้แจงต่อสาธารณชนได้ คดีไม่ถือว่าล่าช้าแต่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมและพิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุดเนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดแต่ผู้เดียว
- ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดที่ถูกกล่าวหาตาม มาตรา 8 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด และตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 180 ต้องระวางโทษเป็น 3 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด และ บช.ปส. ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการได้รับทราบแล้ว จึงต้องดำเนินการสอบสวนต่อไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด
ท้ายเอกสารชี้แจง ผบก.ปส.3 ยืนยันในนามคณะทำงานร่วมกัน ว่าคณะพนักงานสอบสวนและคณะพนักงานอัยการ ไม่มีบุคคลใดทั้งฝ่ายผู้กล่าวหาและฝ่ายผู้ต้องหา หรือ ผู้บังคับบัญชาทั้งสองฝ่ายทั้งตำรวจและพนักงานอัยการ เข้ามากดดันการสอบสวน หรือสั่งการในการสอบสวนเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ หากเข้าไปช่วยเหลือผู้กระทำผิดหรือกลั่นแกล้งผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษเป็น 3 เท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น .-สำนักข่าวไทย