กรุงเทพฯ 7 เม.ย. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 76.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนสงกรานต์ปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลเงินสะพัดกว่า 127,693 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 76.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 24 เดือน เนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับ สินค้าเกษตร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการใช้จ่ายให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นร้อยละ 3.4
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้ภาพรวมจะดีขึ้น แต่สินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ราคาข้าวที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน จากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐและผลกระทบจาก Brexit ยังไม่ชัดเจนกดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 65.1 ซึ่งเป็นระดับดีที่สุดในรอบ 15 เดือน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจยังไม่สูงมากและมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย และโดยรวมทางศูนย์ฯ ยังคงประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้โดยจีดีพีน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ตัวเลขส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 2-3 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.6-2
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 127,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 12 ปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.53 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การขยายตัวไม่ได้ถือว่าสูง เพราะประชาชนยังกังวลค่าครองชีพระมัดระวังการใช้จ่าย โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 65.2 บอกว่ามูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้น เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน มีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสินค้าบริการมีราคาแพงขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 22.1 บอกว่ามูลค่าการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากต้องการประหยัด เพราะสินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้น รวมทั้งยังเป็นหนี้เพิ่มขึ้นและกังวลภัยธรรมชาติ โดยบรรยากาศเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.1 บอกว่าสนุกสนานเหมือนเดิม
ส่วนการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.6 ตอบว่าจะเดินทางไปท่องเที่ยว โดยจะเที่ยวจังหวัดที่ตนเองอยู่ รองลงมาวางแผนไปเที่ยวในประเทศและกลับบ้าน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 28.4 ไม่เดินทาง เพราะต้องการพักผ่อนอยู่บ้านไม่ได้วางแผนท่องเที่ยว แต่จะไปเยี่ยมและรดน้ำดำหัวญาติ ทำบุญ และซื้อของแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 3,951 บาท ขณะที่ต่างประเทศอยู่ที่ 75,300 บาท โดยการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 92.8 จะไปเที่ยวเอง ส่วนอีกร้อยละ 7.2 จะไปกับทัวร์ และระยะเวลาการท่องเที่ยวเฉลี่ยประมาณ 3 วัน โดยวันที่ 12 -13 เมษายนจะเป็นวันที่มีคนเดินทางออกมากสุด ส่วนวันที่ 15-16 เมษายน เป็นช่วงวันที่คนเดินทางกลับมากที่สุด
ส่วนการใช้จ่ายพบว่าสัดส่วนผู้ที่ทำบุญน้อยลง แต่จำนวนเงินที่ใช้ขยับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงสังสรรค์และซื้อสุราลดลงด้วยเช่นกัน แต่มูลค่าการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา โดยพบว่าจำนวนเงินใช้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับ ทองคำ ปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 7,625.93 บาทในปีที่ผ่านมา เป็น 18,491.36 บาทเป็นต้น
ขณะที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมั่นใจว่าประเทศไทยจะเดินหน้าตามโรดแมพที่จะมีการเลือกตั้งแน่นอน ทำให้การตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้น โดยเฉพาะลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการลงทุน ส่วนจีดีพีจะขยายตัวได้อีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6. – สำนักข่าวไทย