กรุงเทพฯ 9 พ.ย. – กระทรวงพลังงานระบุไม่ยกเลิกแผนงานเก็บภาษีแอลพีจีภาคขนส่ง แม้กรมสรรพสามิตจะระบุไม่สามารถเก็บจากหัวจ่ายได้ก็ตาม กำหนดกรอบศึกษาเสร็จต้นปีหน้า พร้อมระบุขึ้นภาษีน้ำมัน 20 สตางค์อาจมีผลทางจิตวิทยาเล็กน้อย ทำให้ผู้ใช้น้ำมันประหยัดการใช้ลงชั่วคราว
นายขจรชัย ผดุงศุภไลย รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ต้นปีหน้าคงจะมีข้อสรุปชัดเจน ว่าจะจัดเก็บภาษีแอลพีจีภาคขนส่งได้อย่างไร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้ใช้รถยนต์ จากปัจจุบันภาษีน้ำมันมีการจ่าย 5-6 บาทต่อลิตร แต่แอลพีจีจ่ายเพียง 1 บาทต่อลิตรเท่านั้น โดยกรมสรรพสามิตระบุว่า ไม่สามารถจัดเก็บที่หัวจ่ายแอลพีจี ได้ต้องจัดเก็บที่คลังแอลพีจี โรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าหากเก็บภาษีเพิ่มก็จะกระทบกับทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะจะกระทบต่อผู้ใช้แอลพีจีภาคครัวเรือน โดยต้องการเก็บเฉพาะภาคขนส่ง ดังนั้น จะต้องมาดูให้ชัดว่าจะดำเนินการอย่างไร
“หากปีหน้ามีการจัดเก็บภาษีแอลพีจีขนส่งได้ก็คาดว่ายอดใช้แอลพีจีจะปรับลดลงอีก หลังจากภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 10 เดือนปีนี้แอลพีจีลดลงร้อยละ 9.68 ถึงแม้จะไม่เก็บภาษีเพิ่มก็ยังคาดว่าปีหน้าการใช้จะลดลง เพราะประเมินกันว่าราคาน้ำมันดิบปีหน้ายังอยู่ที่ 45-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยขึ้นอยู่กับโอเปกจะลดกำลังผลิตได้หรือไม่ และผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นอย่างไร ส่วนภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ปรับขึ้นมา 20 สตางค์ต่อลิตร อาจมีผลทางจิตวิทยาทำให้คนประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นชั่วคราว” นายขจรชัย กล่าว
นายขจรชัย กล่าวด้วยว่า การใช้พลังงาน 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) การใช้แอลพีจีเฉลี่ยอยู่ที่ 16.32 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ลดลงร้อยละ 9.68 แยกเป็นภาคปิโตรเคมี ลดลงร้อยละ 17.13 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.91 ล้าน กิโลกรัมต่อวัน ภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 15.96 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.03 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ส่วนภาคครัวเรือนไม่เปลี่ยนแปลง เฉลี่ยอยู่ที่ 5.72 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.90 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.66 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ส่วนการนำเข้าแอลพีจีในช่วง 10 เดือนของปี 2559 ลดลงร้อยละ 58.58 เฉลี่ยอยู่ที่ 43 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน
ด้านการใช้เอ็นจีวี ลดลงร้อยละ 8.89 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.76 ล้านกิโลกรัมต่อวัน โดยผู้ใช้ก๊าซหันกลับมาใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้นหลังจากราคาน้ำมันลดลงกว่า 2 ปีที่ผ่าน ส่งผลกลุ่มน้ำมันเบนซินมียอดใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.41 เฉลี่ยอยู่ที่ 28.78 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันปรับตัวลดลงเฉลี่ย 3 – 5 บาทต่อลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ดีเซลมียอดใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.69 เฉลี่ยอยู่ที่ 60.01 ล้านลิตรต่อวัน โดยราคาปรับตัวลดลง 2.08 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ยอดใช้ที่เพิ่มขึ้นยังมาจากจราจรที่ตัดขัด ทั้งจากผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นและการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคของประเทศ
ด้านการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.50 เฉลี่ยอยู่ที่ 906,805 บาร์เรลต่อวัน การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 4.28 เฉลี่ยอยู่ที่ 843,499 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 38,883 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.30 เฉลี่ยอยู่ที่ 63,306 บาร์เรลต่อวัน มูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.00 คิดเป็นมูลค่า 3,406 ล้านบาทต่อเดือน
“การนำเข้าน้ำมันดิบลดลง และนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเป็นผลจากโรงกลั่นน้ำมันต่าง ๆ ปิดซ่อมบำรุงถึง 240 วัน ในปีนี้จากปีที่แล้วปิดซ่อมเพียง 160 วัน โดยการปิดซ่อมหลายโรงเหนือจากแผนงานที่วางไว้”นายขจรชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย