รัฐสภา 5 เม.ย.- สนช.มติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม พร้อมเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุ และการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุให้ชัดเจน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (5 เม.ย.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มบางประเภท เพื่อให้มีการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างดังกล่าว ซึ่งอาจมีลักษณะงานแตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป พร้อมปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เพื่อลดภาระของนายจ้างในการส่งสำเนาข้อบังคับดังกล่าว
พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการทำงานให้สอดคล้องกันและเหมาะสมยิ่งขึ้น และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุ และการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึง เพิ่มบทกำหนดโทษ กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายนี้ แต่ได้สอบถามถึงหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าจ้าง รวมถึง เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เห็นว่าควรกำหนดให้มีความชัดเจน
จากนั้น ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 175 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน .- สำนักข่าวไทย