โตเกียว 5 เม.ย. – บริษัทเกี่ยวเนื่องธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้าคิวเจรจา กฟผ. หลังได้รับอนุมัติสร้างเอฟเอสอาร์ยู 5 ล้านตัน/ปี และเล็งนำเข้าผ่านคลัง ปตท.อีก 1.5 ล้านตัน
ในงาน GASTECH 2017 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานประชุมและนิทรรศกาลใหญ่ที่สุดในโลกจัดระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในงานนี้ทางคู่ค้าด้านธุรกิจแอลเอ็นจี ทั้งผู้ผลิตก๊าซ, ผู้ผลิตคลังลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) ผู้วางระบบกว่า 20 รายขอเข้าพบ เพื่อทำความรู้จักและเสนอขอทำธุรกิจด้วยหลังรัฐบาลอนุมัติให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าแอลเอ็นจีด้วยเอฟเอสอาร์ยู 5 ล้านตัน/ปี ตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ กฟผ.นำเข้าอีก 1.5 ล้านตัน ในส่วนขยายกำลังการแปรสภาพแอลเอ็นจี ของมาบตาพุด LNG Terminal 1 ของ บมจ.ปตท. ซึ่งจะมีกำหนดส่งก๊าซปี 2562 โดยตลาดแอลเอ็นจีขณะนี้เป็นของผู้ซื้อ จึงมีผู้เสนอขายจำนวนมาก
“การที่ กฟผ.เข้ามานำเข้าแอลเอ็นจี ก็เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันและการนำเข้าของรัฐวิสาหกิจก็จะเป็นหลักประกันชัดเจนว่าก๊าซฯ จะไม่ขาดแคลน โดยแนวโน้มการนำเข้าก๊าซของไทยจะเพิ่มขึ้นหลังก๊าซฯ ในประเทศลดน้อยลง ซึ่งตามแผนก๊าซ (GASPLAN) ประเมินว่าภายในปี 2579 ไทยต้องนำเข้าเพิ่มจาก 24 ล้านตัน/ปี เป็น 35 ล้านตัน/ปี” นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวว่า ระหว่างนี้ กฟผ.เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาหลายด้าน เพื่อเตรียมนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาแอลเอ็นจี การออกแบบเงื่อนไขประมูลก่อสร้างหรือทีโออาร์ รวมถึงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โดยโครงการเอฟเอสอาร์ยูมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาท นำเข้าฝั่งอ่าวไทย ทำท่าเทียบเรือ 2 ท่า ความยาว 20 กม. โดยนำมาใช้ที่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน 2 เครื่อง รวม 2,600 เมกะวัตต์ และส่งก๊าซผ่านระบบท่อ ปตท.ไปใช้ยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือหน่วยที่ 1, 2 อีก 1,500 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม จากที่ กฟผ.ต้องเตรียมนำเข้าผ่านคลัง ปตท. 1.5 ล้านตัน ทำให้ กฟผ.ต้องลดการทำสัญญาซื้อก๊าซจาก ปตท.ในส่วนนี้ลงคิดเป็นปริมาณ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายระยะยาวของ ปตท.-กฟผ.ก็จะลดลงเหลือประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเริ่มทำสัญญาใหม่ไตรมาส 4/2560 หลังสัญญาระยะยาวฉบับแรกหมดลงปี 2558 และหลังจากนั้นทำสัญญาลักษณะปีต่อปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กฟผ.และเอกชนรายอื่นสามารถยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้บริการส่วนขยายเพิ่มเติม 1.5 ล้านตันต่อปี ได้ยื่นกับบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) บริษัทในเครือ ปตท.ตั้งแต่วันที่ 28 – 31 สิงหาคม 2560 และจะประกาศผลวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ติดตามรายละเอียดได้ทาง www.pttlng.com
ทั้งนี้ การเข้ามาใช้คลัง ปตท.เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการแข่งขัน โดย กกพ.จัดทำข้อบังคับรองรับ ว่าด้วยการจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 พ.ศ. 2557 และฉบับแก้ไขครั้งที่ 2 พ.ศ. 2558 ตามประกาศ กกพ. รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการของสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 และการเชื่อมต่อ (LNG Terminal TPA Code)
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 15 พฤษภาคมนี้จะมีการเสนอรายละเอียดเพิ่มการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ ทั้งการเปิดรายอื่นนำเข้าแอลเอ็นจีและการเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบก คาดว่าจะกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น. -สำนักข่าวไทย