กรุงเทพฯ 10 พ.ย. – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดเลือกตั้งสหรัฐ “Trump Shocks” จะส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนไทยผันผวนเพียงระยะสั้น ขณะที่ระยะยาวเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสเจอกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจนส่งผลให้เฟดต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเร็วกว่าคาด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีวิเคราะห์ว่าภายหลังผลการเลือกตั้งสหรัฐครั้งล่าสุดออกมาพลิกความคาดหมายของนักวิเคราะห์ โดยไม่เพียงแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 สภาครองเกรสก็ยังตกอยู่ภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จของพรรครีพับลิกัน ทำให้ตลาดทุนทั่วโลกกังวลกับนโยบายสุดโต่งของนายทรัมป์ หลังจากที่เคยชินกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ของพรรคเดโมแครตมาเกือบทศวรรษ แต่หลังจากนายทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะ ตลาดกลับคลายกังวลอย่างรวดเร็วมาก ชี้ว่าปรากฏการณ์ “Trump Shocks” อาจส่งผลที่คาดเดาได้ยากและนักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนช่วงนี้เป็นพิเศษ
Trump Shocks เริ่มปั่นป่วนตลาดทันทีที่คะแนนเสียงของนายทรัมป์เริ่มนำนางคลินตันอย่างชัดเจน ทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงอย่างฉับพลันและเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ดัชนีนิเคอิของญี่ปุ่นร่วงรุนแรงถึง ร้อยละ 6.63 และเงินเยนแข็งค่าร้อยละ 3.97 เวลาเดียวกันตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวลงร้อยละ 1.47 และบอนด์ยีลด์ลดลงทันที อย่างไรก็ตาม นักลงทุนกลับต้องช็อคอีกระลอกหลังนายทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ตอบรับชัยชนะและเน้นย้ำถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่เลวร้ายเหมือนในช่วงหาเสียง ส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหนัก ทำให้ดัชนี S&P500 กลับมาบวกและพันธบัตรสหรัฐเผชิญแรงขายอย่างรุนแรง และตอนเช้าตลาดเอเชียก็รับอาการช็อคด้วยการกลับมายืนที่จุดเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
จากปรากฎการณ์ Trump Shocks ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองตลาดจะมีความผัวนผวนต่อเนื่องระยะสั้น เนื่องจากนักลงทุนส่วนมากยังสับสนกับนโยบายของนายทรัมป์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความผันผวนในตลาดจะคงอยู่จนกว่านายทรัมป์จะประกาศนโยบายที่แน่ชัดออกมาในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า ส่วนระยะยาวมองว่าสิ่งที่จะกำหนดทิศทางของตลาดทุนไทยที่แท้จริง คือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยมองผลลัพธ์ออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ได้รับอนุมัติทั้งหมด เชื่อว่าจะก่อให้เกิด Trump Shocks อีกรอบและเงินเฟ้อดีดตัวอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากนโยบายการค้าและผู้อพยพที่สุดโต่ง ทำให้เฟดจำต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเร็ว โดยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งสิ้นปีนี้ร้อยละ 0.25 และเพียง 2-3 ครั้ง ร้อยละ 0.25 ในปีหน้า ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลกเร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงขายทั้งในหุ้นและบอนด์ไทยกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอีกประมาณร้อยละ 3 จากสิ้นปีนี้ถึงปีหน้า
ส่วนกรณีที่นโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ได้รับการตอบสนองบ้าง แม้เศรษฐกิจจะเติบโตได้น้อยกว่าแต่จะไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและระดับหนี้สิน ส่งผลให้เฟดมีโอกาสที่จะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายได้ต่อ โดยคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง ในสิ้นปีนี้และอีก 1 ครั้งในปีหน้า ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.5 จากสิ้นปีนี้ถึงปีหน้า
ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ Trump Shocks ชี้ให้เห็นว่าตลาดการเงินหลังจากนี้ยากที่จะคาดเดาทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย จากนี้ไปจนถึงปีหน้าคงจะยังมีเรื่องช็อคอื่นอีกนอกจาก Trump Shocks ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกีดกันทางการค้า การเมืองในยุโรป และปัญหาหนี้เสียในจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและเตรียมตัวรับกับความผันผวนของตลาดที่จะยังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ.-สำนักข่าวไทย