กรุงเทพฯ 26 มี.ค.-รองประธาน สปท. ชี้ปฏิรูปแก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม มีความคืบหน้า หลังสนช. และครม.เห็นชอบ 2 กฎหมายสำคัญ เผยสปท. เตรียมพิจารณาโมเดลเศรษฐกิจใหม่วางอนาคตให้ประเทศ หวังการเมืองช่วยทำให้คลื่นลมสงบ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของ ป.ย.ป. กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็น 1ใน 6 ของเป้าหมายการปฏิรูปประเทศครั้งนี้กำลังคืบหน้าอย่างมีนัยสำสำคัญ ภายใต้ป.ย.ป.โมเดล ได้แก่ กรณีที่สนช.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่เมื่อ 24 มีนาคม เพื่อสร้างระบบการค้าที่เสรีเป็นธรรมและป้องกันการผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ และกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อ 21 มีนาคม เป็นการปฏิรูประบบภาษีและการคลังภายใต้ 27 วาระเร่งด่วนของป.ย.ป. เพื่อกระจายการถือครองที่ดินและสร้างฐานรายได้ของการปกครองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เนื่องจากกลุ่มประชากรชั้นบนร้อยละ 30 ถือครองที่ดินเกินร้อยละ 90 ขณะที่ประชากรที่เหลือร้อยละ 70 มีที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น โดยเฉพาะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีสปท.ได้ผ่านการพิจารณา 3 วาระปฏิรูปเร่งด่วนเมื่อ 21 มีนาคม ในด้านการปฏิรูปเครื่องมือพัฒนาฐานรากเพื่อส่งต่อป.ย.ป.ขับเคลื่อนให้เสร็จภายในปีนี้ได้แก่ ธนาคารที่ดิน สถาบันการเงินชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมพร้อม พ.ร.บ. 3 ฉบับ และวันพรุ่งนี้ (27 มี.ค.) สปท.จะพิจารณาอีก 1 รายงานปฏิรูปพลังงาน และ 2 วาระเร่งด่วนด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจอนาคต ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวาระการปฏิรูปการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อวางรากฐานโมเดลเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศสู่การยกระดับอัพเกรดเป็นประเทศรายได้สูงหลังจากติดกับประเทศรายได้ปานกลางมา 20 ปี
“การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศเพื่อคนไทยทุกคน ทั้งในวันนี้และวันหน้า ต้องทำอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังนั้นจะต้องช่วยกันประคับประคองประเทศช่วยกันเสริมสร้างบรรยากาศของความร่วมมือและต้องแยกการเมืองและปัญหารายวันออกจากการเดินหน้าปฏิรูปประเทศและการสร้างความสามัคคีปรองดอง ยิ่งคลื่นลมสงบมากเท่าใด เรายิ่งนำรัฐนาวาไทยปฏิรูปไปได้เร็ว ขึ้นเท่านั้น จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคน โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่จะทำให้คลื่นลมสงบมากน้อยแค่ไหน ส่วนป.ย.ป.มีหน้าที่ขับเคลื่อนปฏิรูปต่อไปไม่ว่าจะมีคลื่นสูงลมแรงแค่ไหนก็ต้องนำประเทศเดินไปข้างหน้า จะไม่ยอมให้ประเทศถอยหลังหรือกลับไปสู่ปัญหาเก่าๆ” นายอลงกรณ์ กล่าว-.สำนักข่าวไทย