รัฐสภา 23 มี.ค. –สุภาย้ำสุรพงษ์ผิดกรณีออกหนังสือเดินทางให้ทักษิณ ทั้งที่มีคดีอาญา ขณะที่เจ้าตัวยืนยันดำเนินการตามกระบวนการปกติ ไม่ได้รับใบสั่ง สนช.นัดถอดถอนหรือไม่ 30 มี.ค.นี้
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้(23มี.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระบวนการถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกจากตำแหน่ง กรณีออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเป็นกระบวนการซักถามจากสมาชิกสนช. ซึ่งเป็นคำถามกรรมการ ป.ป.ช. 18 คำถาม ส่วนใหญ่ถามถึงคุณสมบัติของนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ที่อาจขาดคุณสมบัติจากการไม่ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และถูกเชื่อมโยงกับการพิจารณาคดีดังกล่าวและการออกหนังสือให้กับนายทักษิณเป็นไปตามระเบียบถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ยืนยันว่า นายภักดีมีคุณสมบัติการเป็นกรรมการป.ป.ช. ครบถ้วน เพราะลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทตามกฎหมายทุกบริษัท ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือหนังสือ ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ และวุฒิสภาเคยมีมติไม่ถอดถอนมาแล้ว ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือให้ป.ป.ช.เรียกเงินคืนจากนายภักดี สตง.ไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาคุณสมบัติของกรรมการป.ป.ช. แต่เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญกับวุฒิสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ อีกทั้งคุณสมบัติของนายภักดีไม่เกี่ยวกับสำนวนคดีและการกระทำความผิดของนายสุรพงษ์
“นายสุรพงษ์ออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณเป็นการกระทำที่มิชอบ เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบและฝ่าฝืนข้อบังคับที่ 21 ที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการออกหนังสือเดินทางได้กรณีบุคคลดังกล่าวถูกออกหมายจับหรือมีคำสั่งโทษจำคุก ทั้งที่เป็นบุคคลที่ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ตามข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ การออกหนังสือเดินทางให้นักโทษในคดีอาญาของนายสุรพงษ์เป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงและความเชื่อมั่นของนานาประเทศ เป็นการออกหนังสือเดินทางที่ดำเนินการภายใน 1 วัน โดยไม่สอบถามความเห็นไปที่ศาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นการดำเนินการที่พิเศษจากประชาชนทั่วไป” น.ส.สุภา กล่าว
ขณะที่นายสุรพงษ์ ชี้แจงว่า การพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพราะเห็นว่าไม่เป็นภัยต่อประเทศ และใช้ดุลพินิจโดยสุจริตตามข้อเท็จจริง ดำเนินการตามกระบวนการปกติไม่ได้เร่งรัดหรือสั่งการเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งผู้รักษาการตามระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง คือปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้หลังการซักถามแล้ว ที่ประชุมได้นัดรับฟังคำแถลงปิดสำนวนคดี ในวันที่ 29 มีนาคม และนัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา ในวันที่ 30 มีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย