กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – รองประธาน สปท. ระบุ การสร้างความปรองดองเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ เตรียมทำปฏิญญาประเทศ รวบรวมข้อมูลความคิดเห็นผ่านเวที ป.ย.ป. เชื่อไม่เกิดความแตกแยกซ้ำ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ระบุในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภารกิจการขับเคลื่อนการปฏิรูป 11 ด้าน” ต่อคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ และเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 และสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนหนึ่งว่า หน้าที่ของการปฏิรูปประเทศ ต้องยึดอยู่บนหลักการว่า เป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ตั้งเป้าว่าภายหลังการเลือกตั้งแล้ว ประเทศไทยจะต้องไม่กลับไปเป็นเหมือนในอดีต ต้องไม่มีการแบ่งฝ่าย และต้องมีความสามัคคีปรองดองกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวว่าร รัฐบาลได้ตั้ง สปท. เข้ามาวางรากฐาน เปรียบเสมือนผู้รับเหมาก่อสร้าง และตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เปรียบเสมือนเครืองจักรกล มาช่วยผลักดันเรื่องต่างๆ ที่สำคัญ และภายหลังการับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย คณะกรรมการ ป.ย.ป. กำหนดว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน จะจัดทำข้อตกลงที่เป็นสัญญาประชาคม หรือ ปฏิญญาประเทศ ที่เขียนโดยประชาชน 65 ล้านคน ว่าจะไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือมีความแตกแยกขึ้นอีก และให้แม่น้ำ 5 สายเป็นเพียงฝ่ายธุรการเท่านั้น
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ส่วนแนวทางขับเคลื่อนการสร้างความปรองดอง คือ ต้องแยกการเมืองออกจากการปรองดอง ร่วมกันสร้างบรรยากาศความสมานฉันท์ หลีกเลี่ยงการยั่วยุ ขยายปมความขัดแย้ง
“สิ่งที่พรรคการเมืองกลัวที่สุด ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นประชาชน และไม่ต้องถามถึงความสำเร็จ แต่ต้องถามว่า เราทุคนมีส่วนร่วมในความสำเร็จในการเดินหน้าปฏิรูปอย่างไรบ้าง” นายอลงกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ยุบกรรมการปรองดอง และให้มีคนกลางเข้ามาทำหน้าที่แทน ว่า เรื่องนี้ยังมีความเข้าใจผิดของพรรคการเมือง การปรองดองครั้งนี้ ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการปฏิรูปเพื่อคนไทย โดยคนไทย ดังนั้น นายกรัฐมตรี จึงได้เน้นย้ำเรื่องการสร้างความรับรู้กับทุกฝ่าย
“เชื่อว่า การสร้างความปรองดองครั้งนี้ จะไม่เกิดความวุ่นวาย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ และสนับสนุนให้เกิดความปรองดอง เช่นเดียวกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ที่เห็นด้วยกับแนวทางสร้างความปรองดอง และไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกอีก นี่จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” นายอลงกรณ์ กล่าว .- สำนักข่าวไทย