สำนักข่าวไทย 21 มี.ค.-อาจารย์ครุศาสตร์ โพสต์ข้อความหลังมติ ก.ค.ศ. ปรับเกณฑ์ให้คนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ แจงยอมรับความสามารถ แต่หากจะมาเป็นครูผ่านการอบรมและฝึกฝนเฉพาะด้าน
จากกรณีที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ว่ามีการปรับแก้หลักเกณฑ์การรับสมัคร ให้คนที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันครูผู้ช่วย จากเดิมที่ต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถสมัครได้เท่านั้น ซึ่งจะเริ่มประกาศรับสมัครในวันที่ 21 มีนาคม เมื่อสอบแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ ที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนคุรุสภา โดยสาขาที่มีความต้องการจำนวนมากคือสาขาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง บางส่วนบอกว่าไม่เหมาะสม คนที่ตั้งใจเรียนครูกว่า 5 ปีก็สูญเปล่า ขณะที่บางส่วนแย้งว่าเกณฑ์ใหม่จะช่วยสรรหาคนเก่งมาเป็นครูมากยิ่งขึ้น
นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่มีครูและบุคลากรทางการศึกษาออกมาประชดว่า คนที่ไม่เรียนจบครูจะมาเป็นครูได้อย่างไร แต่ตนก็ยืนยันว่าการทำงานเป็นครู ต้องผ่านการอบรมและฝึกฝนเฉพาะด้าน มีประสบการณ์การสอน และก็ไม่ปฏิเสธคนเก่งในศาสตร์ต่างๆ แนะหากอยากเข้าสู่อาชีพครู ต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกอบรม ให้มีความรู้ส่วนอื่นๆ ที่สำคัญจำเป็นในการทำงานครู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อความที่นายอรรถพลโพสต์ดังกล่าวมีใจความดังนี้
“จริงๆ เบื่อมากกับ debate เรื่องไม่เรียนครูมาเป็นครูได้หรือไม่ เหมือนถกกันจบไปนานแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ ยังไปไม่ถึงไหน ผมไม่เห็นด้วยกับท่าทีประชด ค้านหัวชนฝา หรือเอาแต่พร่ำพูดว่าครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงจนคนอื่นมาทำงานนี้ไม่ได้ คนเรียนครูมีความเป็นครูสูงกว่าคนที่ไม่ได้เรียน วิชาชีพครูศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้มันเป็นเหตุผลข้างๆ คูๆ ที่ฟังไม่ขึ้น แต่ขอยืนยันซ้ำๆ ว่าคนจะมาทำงานครู ต้องผ่านการอบรม ศึกษาเล่าเรียน และฝึกฝนเฉพาะด้านมา มีประสบการณ์การสอนมา คนที่เรียนจบคณะเฉพาะทางมีความรู้ที่เสนอในรูปเป็นวงกลมสีฟ้า นั่นคือความรู้เฉพาะสาขา (Content Knowledge) แต่คนที่เรียนครู ผ่านการอบรมมา มีเงื่อนไขตามหลักสูตรวิชาชีพให้ต้องเรียนทั้งความรู้เฉพาะสาขาตามวิชาเอก ไปพร้อมๆ กับความรู้ว่าด้วยการสอน (Pedagogical Knowledge) (สีเหลืองในรูป) จนเกิดเป็น ความรู้ว่าด้วยการสอนความรู้เฉพาะศาสตร์ (Pedagogical Content Knowledge) (สีเขียว) ซึ่งเมื่อรวมกับความรู้ว่าด้วยเทคโนโลยี (Technological Knowledge) ยังผสานเป็นความรู้ในการจัดการเทคโนโลยีในการเอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้เฉพาะศาสตร์ (Technological Pedagogical Content Knowledge) เสียด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่รายวิชาบังคับหมวดวิชาครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ + ประสบการณ์ภาคสนาม 1 ปีเต็มในการฝึกงานระบุไว้
ผมไม่ปฏิเสธคนเก่งในศาสตร์ต่างๆ คุณมีความรู้เฉพาะศาสตร์ของคุณเป็นพื้นฐาน หากอยากเข้าสู่อาชีพครู คุณต้องไปต้องผ่านการเรียนรู้ ฝึกอบรม ให้มีความรู้ส่วนอื่นๆ ที่สำคัญจำเป็นในการทำงานครู ไปผ่านประสบการณ์ชั้นเรียนมาก่อน ได้ใบประกอบวิชาชีพมาก่อน แล้วมาสอบบรรจุด้วยเงื่อนไขเดียวกันครับ สำหรับผู้ที่ร่ำเรียนครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และรับผิดชอบการผลิตบัณฑิตครู “เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ” ของพวกเราเช่นกันในการอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเรียนครู มีหลักสูตร และมีคณะวิชาในด้านนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ช่วยกันอธิบาย และทำให้ประจักษ์เชิงคุณภาพว่าทำไมการฝึกหัดครู และคนที่เรียนครู ต้องร่ำเรียน “ศาสตร์” ที่มีความเฉพาะเจาะจง จึงได้ระบุเป็นวิชาชีพไม่ต่างจากวิชาชีพแพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนาย และอื่นๆ.-สำนักข่าวไทย