กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ค้าและผลิตเอทานอลไทย วอนกระทรวงพลังงานสร้างความชัดเจนส่งเสริมการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างไร หลังกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณไม่ยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 แต่จะเตรียมแผนส่งเสริมการใช้อี 20 ด้วยการเพิ่มส่วนต่างอี 20 และอี 10 ให้มากขึ้น
นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า ภาคเอกชนรอเพียงความชัดเจนของภาครัฐว่าจะส่งเสริมการเพิ่มจำนวนการใช้เอทานอลอย่างไร จากที่ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3.6-3.7 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาการใช้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันต่ำ ยอดใช้น้ำมันของประเทศจึงพุ่งขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ยังมีการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วคาดว่าปีนี้การใช้เอทานอลอาจแตะ 4 ล้านลิตรต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุดปีนี้มีแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส สหรัฐ อยู่ที่ประมาณ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากการลดกำลังผลิตของกลุ่มโอเปกและนอกโอเปก ประกอบกับนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ไม่ส่งเสริมพลังงานทดแทน ล้วนมีผลต่อราคาน้ำมันเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณชัดเจน ทางผู้ผลิตเอทานอลก็พร้อมจะผลิตเพิ่ม ซึ่งกำลังผลิตขณะนี้โรงงานต่าง ๆ ผลิตได้สูงสุดประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ก็มีโรงงานอีก 2-3 แห่งพร้อมลงทุนขยายกำลังผลิตจากมันสำปะหลังได้ทันทีเป็น 5.5-6.0 ล้านลิตรต่อวัน
“หากสัญญาณภาครัฐไม่ชัดเจนว่าจะเพิ่มการใช้เอทานอลอย่างไร ทางผู้ผลิตโรงงานอ้อยและเอทานอลก็จะโยกวัตถุดิบไปผลิตจำหน่ายเป็นโมลาสไม่นำมาผลิตทดแทนเอทานอล แต่ถ้ารัฐมีความชัดเจนผู้ผลิตก็เพิ่มผลิตเอทานอลเพิ่มได้ ผลดีจะเกิดต่อเกษตรกร และช่วยลดมลพิษ” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
สำหรับราคาเอทานอลปีนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำมัน โดยราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก 3 เดือน ตามคำสั่งซื้อของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งราคาล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 24 บาทต่อลิตร คาดราคาใหม่จะอยู่ประมาณ 24-25 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันสัดส่วนวัตถุดิบจะมาจากโมลาสประมาณร้อยละ 70 และอีกร้อยละ 30 มาจากมันสำปะหลัง ซึ่งปีนี้ราคาหัวมันฯ ตกต่ำอยู่ที่ประมาณ 1.90 บาทต่อ กก. การจำหน่ายเอทานอลราคา 24 บาทก็ยังได้ผลตอบแทนที่ดี แต่หากผู้ผลิตจากโมลาสแล้ว ผลตอบแทนลดลง เพราะราคาโมลาสอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทต่อตัน สูงตามราคาน้ำตาลทราย หากจะได้ผลตอบแทนที่ดีจะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 27 บาทต่อลิตร แต่ไม่สามารถจำหน่ายในราคาสูงได้ ดังนั้น ทางผู้ผลิตต้องบริหารจัดการต้นทุนให้อยู่รอด เช่น ตกลงล็อคราคาโมลาสกับผู้โรงงานน้ำตาล หรือใช้ราคาย้อนหลัง 3 ปีมาเป็นเกณฑ์การคำนวณ . -สำนักข่าวไทย