ทำเนียบรัฐบาล 15 มี.ค.-ที่ประชุมคตช.รับทราบความคืบหน้าคดีโครงการรับจำนำข้าว คาดแล้วเสร็จมิ.ย.นี้ นายกฯย้ำการดำเนินการคดีทุจริต ด้วยต้องระมัดระวัง โปร่งใส ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) แถลงผลการประชุมคตช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุม ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งในส่วนที่ป.ป.ท.รับผิดชอบจำนวน 987 คดี โดยตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนครบทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรอบ 6 เดือนที่วางไว้ หรือภายในเดือนมิถุนายน และสรุปตัวเลขผู้กระทำความผิดและค่าเสียหายอีกร้อยละ 80 ที่เหลือ เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
“ที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 ตรวจสอบข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต 353 คน ซึ่งขณะนี้ถูกให้ออกจากราชการในกรณีต่าง ๆ 127 คน อยู่ระหว่างการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 37 คน และอยู่ระหว่างการตรวจสอบทางวินัยของต้นสังกัด 66 คน ส่วนที่เหลืออีก123 คน ต้นสังกัดยังไม่รายงานผล” นายประยงค์ กล่าว
นายประยงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมรายงานความคืบหน้ากรณีสินบนข้ามชาติโรลสรอยซ์ ที่ล่าสุดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ ศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อออกมาตราการป้องกัน และศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้กลุ่มความร่วมมือเพื่อต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิค(เอพีจี) กำลังประเมินเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลกับหน่วยงานดังกล่าวอย่างเต็มที่ ในส่วนของป.ป.ช. ยืนยันคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นทำงานอย่างเต็มที่ และจะใช้คณะกรรมการชุดนี้ตรวจสอบกรณีสินบนข้ามชาติต่อไป
นายประยงค์ กล่าวว่า มีข้อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติ อนุญาตของทางราชการ เพื่อต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ เพื่อยกระดับการดำเนินการให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ป้องกันการทุจริต โดยอาศัยการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก รวมถึงรายงานผลการประเมินระดับสถานการณ์การทุจริตขององค์การความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเดียวกับที่ประกาศจัดอันดับความโปร่งใสของไทยลดลงอยู่ที่อันดับ 101 ซึ่งในครั้งนั้นมีตัวชี้วัดเรื่องของประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย
“การประเมินล่าสุด เกี่ยวข้องกับมาตรวัดการคอรัปชั่น ซึ่งสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจาก 16 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เห็นว่าการแก้ปัญหาของรัฐบาลดีขึ้น เมื่อเทียบผลสำรวจเมื่อปี 2013 เช่น เมื่อถามถึงความรุนแรงของการทุจริตในไทยปี 2013 ถึงร้อยละ 66 แต่ปีนี้ร้อยละ 14 ขณะที่ความพึงพอใจของรัฐบาล ปี 2013 อยู่ที่ร้อยละ 25 ขณะที่ปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 72” นายประยงค์ กล่าว
นายประยงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.)และป.ป.ท. ตรวจสอบโครงการตามแนวทางของรัฐบาลที่กระจายลงสู่ท้องถิ่น หลังมีการร้องเรียนเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับให้ตรวจสอบการทุจริตอย่างเด็ดขาด ไม่ต้องการให้โครงการเหล่านี้หยุดชะงัก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน
“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทุจริตที่ขณะนี้มีการบิดเบือน ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและโปร่งใส ไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามมา ส่วนการปลูกจิตสำนึกด้านการต่อต้านการทุจริต ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการท้องถิ่นสุจริตโปร่งใส ด้วยการจัดอบรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างวัฒนธรรม และปลูกจิตสำนึก ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริต รวมถึงอบรมบุคคลากรทางการศึกษา เพื่อขยายการดำเนินโครงการโตไปไม่โกง ที่ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ” นายประยงค์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย