ก.กลาโหม 16 มี.ค. – คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนงานชุมชน เปิดโอกาสผู้เห็นต่างมอบตัว พร้อมถกแก้กฎหมายความมั่นคงให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 มี.ค.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เพื่อรับฟังความคืบหน้าใน การดำเนินงานต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดจะเดินภาคใต้ให้ประสบความสำเร็จ
นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล แถลง ภายหลังการประชุม ว่า พล.อ.อุดมเดช ขอบคุณทุกหน่วยงาน ที่ให้การดูแลประชาชนเป็นอย่างดีพร้อมติดตามสถานการณ์ล่าสุด ที่เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาและอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยได้หารือถึงมาตรการ ที่จะไม่ให้มีการเกิดเหตุซ้ำอีก ขณะเดียวกัน คณะทำงานเดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านชุมชนเข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างเข้ามอบตัว ในการพัฒนาสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้ง จัดกลุ่มแกนนำจิตอาสาในพื้นที่มาเป็นทีมงานชุมชนเข้มแข็ง
“ที่ประชุมยังได้พิจารณาเพื่อขอเพิ่มเติมงบประมาณจากงบกลาง วงเงิน 774 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ใน 7 โครงการ ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป” นายภาณุ กล่าว
ด้าน พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้แทนพิเศษรัฐบาล ยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย มาตรา 21 ของ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี โดยเฉพาะโครงการพาคนกลับบ้าน และการพูดคุยสันติสุข
พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้ ยังมีความเห็นต่าง ซึ่งเห็นตรงกันว่า จะทำอย่างไรให้กฎหมายนี้ใช้บังคับอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง จึงได้เตรียมแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเรียบเรียง เพื่อให้แก้ปัญหาหลุดพ้นข้อขัดแย้งต่างๆ
“ประชาชนอยากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง แทนแต่บางเรื่องมีกระบวนการที่ซับซ้อน จึงต้องแสวงหาทางออกของความขัดแย้ง ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ประชาชน ใครก็ตาม ขณะนี้ภาคประชาสังคมได้รับความไว้วางใจ และทำงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องพื้นที่เซฟตี้โซนยังไม่ได้ข้อสรุปอยู่ระหว่างการพูดคุยดำเนินการ” พล.อ.อุดมชัย กล่าว
พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้แทนพิเศษรัฐบาล กล่าวว่า ในส่วนของบุคลากรที่ทำหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดมีผู้ขออยู่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่อ 138 นาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเปิดตำแหน่ง และจะต้องมีโรงพักรองรับให้เพียงพอ. .- สำนักข่าวไทย