กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชิญชวนชม “ซูเปอร์ฟูลมูนวันลอยกระทง” 14 พฤศจิกายนนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี และจะดูใหญ่ขึ้นกว่าเดิม 14% และยังสว่างมากขึ้น 30% หากพลาดครั้งนี้ ต้องรออีก 18 ปีข้างหน้า
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผย 14 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง ดวงจันทร์จะเต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2491 โดยจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ขณะอยู่ไกลโลกมากที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างมากกว่าประมาณ 30% หรือเรียกว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)” ที่ระยะห่างประมาณ 356,511 กิโลเมตร จุดสังเกตการณ์ 3 จุดหลัก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา จึงอยากเชิญชวนประชาชนร่วมส่องพระจันทร์ดวงโต และวัตถุท้องฟ้าชัดเต็มตา ด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ โดยที่เชียงใหม่จัดที่ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ นครราชสีมา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา – หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา
สำหรับดวงจันทร์มีลักษณะวงโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี โดย 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 356,400 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร แม้ว่าดวงจันทร์จะมีตำแหน่งโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่ดวงจันทร์ไม่ได้ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง ดวงจันทร์เต็มดวงจะอยู่ตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดประมาณทุกๆ 13 เดือน สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุด ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2561 ที่ระยะห่างประมาณ 356,565 กิโลเมตร. -สำนักข่าวไทย