กรุงเทพฯ 6 ม.ค.-สพฉ.ย้ำสายด่วน 1669 พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน-เรือใน รพ.ที่ได้รับผลกระทบ เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคใต้ ว่าสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบคู่สาย1669 ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรจดจำสายด่วนนี้ให้ขึ้นใจและหากบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งระบบการให้บริหารด้านการแพทย์ฉุกเฉินจะอำนวยการในการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันท่วงที
ส่วนถนนหลายสายที่ถูกน้ำกัดเซาะจนไม่สามารถสัญจรได้ สพฉ.ได้ประสานภาคีเครือข่ายฯ อาสาสมัครมูลนิธิต่างๆ นำเรือท้องแบนและเสื้อชูชีพเข้าไปให้บริการในพื้นที่เพื่อนำส่งประชาชนและผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาใน รพ.ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะนี้มูลนิธิใจถึงใจได้เข้าพื้นที่ รพ.หลังสวน จ.ชุมพร เพื่อช่วยในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว ส่วน รพ.อื่นๆที่ได้รับผลกระทบ สพฉ.เตรียมให้การสนับสนุนหากมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยและถนนไม่สามารถใช้งานได้ ก็จัดเตรียมการขนส่งทางอากาศยาน หรือทางเรือ ไว้คอยให้บริการในการส่งต่อผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รองเลขาธิการ สพฉ. ยังเตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมด้วยว่า หากต้องอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันและอยู่ในพื้นที่เกิดพายุ จะต้องคอยฟังประกาศเตือนภัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมการในเบื้องต้นเพื่อระวังภัยโดยการตรึงประตูหน้าต่างให้มั่นคง ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ขณะฝนตกฟ้าคะนองห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ เสาไฟ และห้ามโทรศัพท์เด็ดขาด หากรู้สึกว่าบ้านกำลังจะพังให้ห่อตัวเองด้วยผ้าห่ม หลบใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือที่แข็งแรงมั่นคง
ส่วนการป้องกันเหตุน้ำป่าน้ำท่วมฉับพลันประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องรีบอพยพขึ้นที่สูง ควรสวมเสื้อชูชีพ โดยหลีกเลี่ยงการเดินผ่านแนวธารน้ำ ช่องระบายน้ำ ห้ามเดินฝ่ากระแสน้ำเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยในการเดินควรใช้ไม้ปักดินคลำทาง เพื่อสังเกตว่าดินตื้นลึกแค่ไหน และห้ามขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม แต่หากเกิดน้ำท่วมระหว่างอยู่ในรถ และน้ำขึ้นสูงรอบๆ รถ ให้รีบออกจากรถโดยเร็ว
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ควรจัดเตรียมกระเป๋ายังชีพฉุกเฉิน และจัดทำรายการสิ่งของจำเป็นที่ต้องเตรียม แบ่งเป็นหมวดหมู่ 1.สิ่งของยามฉุกเฉิน เช่นน้ำดื่ม ยาประจำตัว เสื้อผ้า ไฟฉาย 2.สิ่งของมีค่า เอกสารหลักฐานสิ่งสำคัญในชีวิต เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ 3.สิ่งของจำเป็นและของใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีวิต อาทิ อาหารแห้งพร้อมรับประทาน ชุดชั้นใน .-สำนักข่าวไทย