กรุงเทพ 13 พ.ย.-ปตท.สผ.เผยโครงการแอลเอ็นจีโมซัมบิก ส่อแววล่าช้ากว่า แผน 2 ปี จับตา ปตท.ปรับแผนนำเข้าอย่างไร ล่าสุด ปตท.มีเงินสดในมือ 3.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.พร้อมซื้อกิจการ ระบุ มี 3 โครงการในอาเซียนอยู่ระหว่างเจรจา
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า โครงการผลิตก๊าซแอลเอ็นจีที่ประเทศโมซัมบิก ในขณะนี้อยู่ระหว่างรอกการแก้ไขด้านกฏหมายต่างๆจากทางรัฐบาล จึงทำให้คาดว่าจะประกาศแผนการลงทุนขั้นสุดท้ายในปี 2560 และส่งผลให้การเริ่มการผลิตแอลเอ็นจี จะเริ่มได้ช่วงปี 2564-2565 ล่าช้าออกไปจากแผนเดิมในช่วงปลายปี 2563 โดยในส่วนนี้ ปตท.ได้มีข้อตกลงเบื้องต้น (HOA) ที่จะรับก๊าซฯประมาณ 2.60 ล้านตัน/ปี
“ในขณะนี้ผู้ร่วมทุนทั้งหมดเดินหน้าโครงการทั้งเจรจาเรื่องการเงิน ผู้รับเหมา รวมทั้งลูกค้า โดยรวมแล้วมีสัญญา HOA ร้อยละ 70-80 ของกำลังผลิตแอลเอ็นจีช่วงแรก 12 ล้านตัน/ปี”นางสาวพรรณนลิน กล่าว
ทั้งนี้โครงการโรวูมา ออฟชอร์ แอเรียวัน ที่ โมซัมบิก ทาง ปตท.สผ. ถือหุ้น ร้อยละ8.5 เงินลงทุนรวมทั้งโครงการเดิมประมาณการณ์อยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นในส่วนของ ปตท.สผ. ลงทุน 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น โดยคาดว่าจะปรับลดเงินลงทุนได้ตามแนวโน้มค่าก่อสร้างที่ลดลงตามราคาน้ำมัน
ในขณะเดียวกันปี 2560 บริษัท ยังมีอีก 2 โครงการที่จะตัดสินใจขั้นสุดท้ายการลงทุน คือ โครงการแหล่งอุบล ในอ่าวไทย เนื่องจากยังอยู่ระหว่างเจรจาลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนกับบริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการ คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 2.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน หลังปี 2563 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนงานเดิมที่คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562
ขณะที่โครงการฮาสสิ เบอร์ ราเกซ ที่แอลจีเรีย อยู่ระหว่างเตรียมแผนการผลิตเพื่อยื่นขอการอนุมัติจากรัฐบาลแอลจีเรียซึ่งต้องใช้เวลา เบื้องต้นจากการสำรวจทางธรณีวิทยาในเบื้องต้นได้ผลค่อนข้างดีเป็นแหล่งน้ำมัน แต่ยังต้องใช้เวลาสำรวจและประเมินปริมาณสำรองฯ
ส่วนโครงการในเมียนมาร์ซึ่งถือว่าเป็นบ้านแห่งที่ ปตท.สผขณะที่แหล่งเยตากุน ได้เจรจากับ ปตท. เพื่อลดปริมาณก๊าซที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาในแต่ละวัน(DCQ) ลงแล้ว จากที่เคยตกลงกัน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะผลิตต่อไปได้อีก 5 ปี แต่จะทยอยลดการผลิตลงจากปีนี้อยู่ที่ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2563 ซึ่งจะสามารถนำก๊าซฯจากแหล่งซอติก้า มาทดแทนได้บางส่วนำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนในเมียนมา แปลงปิโตรเลียมน้ำลึก MD7 กำลังหาพันธมิตรร่วมทุน และอยู่ระหว่างการสำรวจและประเมินปริมาณสำรอง ส่วนแหล่ง M3 ยังต้องปรับวิธีดำเนินโครงการให้คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ หลังพบว่าแหล่งปิโตรเลียมมีขนาดเล็กกว่าที่ประเมินไว้
“ปตท.สผ.เดินหนากลยุทธ์3 Rทั้ง “RESET” ปรับฐานต้นทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สามารถลดต้นทุนต่อหน่วยลงได้ 23% สูงกว่าเป้าหมายที่ 10% , “REFOCUS” เน้นลงทุนในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญและมีโอกาส เพิ่มการลงทุนในอาเซียน หาโอกาสควบรวมกิจการ โดยกระแสเงินสดที่มี 3.7 พันล้านดอลลาร์สรอ.ก็ทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น และ “RENEW” ปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เช่น พลังงานทางเลือก”
ทั้งนี้ ปตท.สผ.อยู่ในระหว่างการเจรจาซื้อขายกิจการ (M&A) 3 โครงการในอาเซียน คาดจะรับทราบผลในราวต้นปี 2560 ส่วนแหล่งเยตากุน ประเทศเมียนมาร์ ปริมาณก๊าซจะลดลงเรื่อยๆล่าสุด ได้ ลดปริมาณก๊าซที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาในแต่ละวัน(DCQ) เหลือ 240 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน จากเดิม 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเหลือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2563 เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซลดต่ำกว่าประมาณการณ์เดิม โดยในส่วนนี้ ได้นำก๊าซจากจากแหล่งซอติก้า มาทดแทนได้บางส่วน และ ปตท.กำลังเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อขออนุมัติโครงการนำเข้าแอลเอ็นจี ในรูปแบบคลังลอยน้ำหรือเอฟเอสอาร์ยู่ที่จำนำมาใช้2 ประเทศ
ซีเอฟโอ ปตท.สผ.ระบุด้วยว่ากำลังทบทวนเป้าหมายขยายกำลังการผลิตปิโตรเลียมเป็น 5 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใน 10 ปี จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 3.7 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และมียอดขายอยู่ที่ 3.2 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมบริษัทพิจาณาได้ในเดือนพ.ย หรือ ธ.ค.นี้ โดยปีหน้าจะพยายามรักษายอดขายให้ใกล้เคียงกับปีนี้ ขณะที่ราคาก๊าซฯเฉลี่ยในปีหน้า คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยของปีนี้ที่ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู โดยแผนทั้งหมดกำลังติดตามสถานการณ์การคาดการณ์ราคาน้ำมันในปี 2560 จากเดิมบริษัทตั้งระดับราคาน้ำมันดิบดูไบในการจัดทำงบฯที่ 44 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาในขณะนี้ขยับขึ้น และต้องดูว่า โอเปกจะลดกำลังผลิตได้หรือไม่ รวมไปถึงนโยบายรัฐบาบสหรัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานอย่างไร.-สำนักข่าวไทย