ทำเนียบรัฐบาล 11 ม.ค.-วิษณุ เผยเตรียมตั้งกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขรธน.ฉบับประชามติหมวดพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน หลังโปรดเกล้าฯ แก้ไขรธน.ชั่วคราวปี 57 ยืนยันเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมป
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึง การตั้งคณะกรรมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ ว่า จากการหารือที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา 8-10 คน เพื่อยกร่างมาตราที่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน โดยจะคัดเลือกจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมากกว่า 100 คน มีคุณสมบัติอยู่ในฐานะที่จะช่วยตรวจสอบได้ ทำหน้าที่คือยกร่างและตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัฐธรรมนูญประมาณ 3-4 มาตรา ไม่เช่นนั้นจะถูกสังคมกล่าวหาได้ว่ารัฐบาลจะสอดแทรกแก้ไขมาตราอื่น ๆ อีก
“กรรมการกฤษฎีกาที่ตั้งขึ้นจะมีทั้งผม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายดิสทัต โหตระกิตย์ นายอัชพร จารุจินดา นายอำพน กิตติอำพน ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร นายวีระพล ตั้งสุวรรณ และ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ โดยจะดึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้ามาช่วยในฐานะเจ้าหน้าที่ในการประสานข้อมูลต่างๆ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นประธานในชุดนี้ อย่างไรก็ตาม จะยังไม่ตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในตอนนี้ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคมนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน และรอการโปรดเกล้าฯลงมาภายใน 30 วัน จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดดังกล่าว เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เสร็จภายในไม่กี่วัน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะมอบให้องคมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคณะกรรมการฯดังกล่าว” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจกระทบในบางมาตรา ที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ แต่ยืนยันไม่แก้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและแนวนโยบายของรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. รวมถึงบทเฉพาะกาล การร่างรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลง จึงมีความจำเป็นต้องปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ เพราะหากไม่แก้ก็จะใช้หลักการเดิมตั้งแต่ปี 2475 และหลังจากแก้ไขเสร็จแล้ว 30 วัน นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากนั้นอยู่ในพระราชอำนาจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ส่วนการร่างกฏหมายลูก 4 ฉบับ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังยึดแนวทางเดิม คือ ร่างในส่วนที่สำคัญก่อน ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะต้องทำหน้าที่ตามเวลาที่กำหนด ยืนยันโรดแมปยังเดินตามขั้นตอนที่กำหนดมาก่อนหน้านี้ ไม่ตัดขั้นตอนหรือยืดเวลาใด ๆ ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้ง อาจจะต้องกำหนดใหม่เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเรื่องพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งรัฐบาลไม่อยากใช้ข้ออ้างนี้ แต่คือความจริงที่อยู่ในหัวใจของทุกคน ซึ่งล้วนขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยในการกำหนดวันและเวลา อย่างไรก็ตาม การลือกตั้งยังอยู่ตามกำหนดเดิมของโรดแมป.-สำนักข่าวไทย