กรุงเทพฯ 14 ม.ค. -ธ.ก.ส. เตรียมเสนอครม.สัปดาห์ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรได้รับน้ำท่วม ยืดหนี้สูงสุด 2 ปี และปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ย ร้อยละ 0 นาน 6 เดือน ด้านออมสินขอปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน 3 หมื่นล้าน ช่วยเอสเอ็มอีภาคใต้
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า เห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้ คาดว่ามีลูกค้าได้รับผลกระทบ 1.5 แสนราย โดยมี 3 มาตรการหลัก ได้แก่ การให้เงินฟื้นฟูใหม่ 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 นาน 6 เดือน จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ผ่อนนาน 3 ปี , มาตรการ จะขยายเวลาการชำระหนี้นาน 2 ปี และลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ ต้องขอวงเงินงบประมาณในการชดเชยภาระดอกเบี้ยให้ธนาคาร ,3.การปล่อยกู้เพิ่มเติมตามความจำเป็น สูงสุด 3 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน นานสูงสุด 10 ปี
ส่วนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลนเพิ่มเติม เพื่อผู้ช่วยเหลือประสบภัย นั้นในขณะนี้ ทาง ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง ที่กำลังพิจารณาถึงภาพรวมทั้งระบบ โดย ทาง ธนาคารพร้อมเข้าร่วมในโครงการ เพราะจะช่วยลดต้นทุนให้กับธนาคารด้วย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้เสนอกระทรวงการคลัง ปรับเงื่อนไขในวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี และขยายเวลาการปล่อยกู้วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเดิมที่มีอยู่แล้วจากโครงการเดิมในปี 2559 ยังคงเหลือวงเงินเดิมอีก 2.2หมื่นล้าน เพราะใช้ไปเพียง 8,000 ล้านบาท โดยเสนอเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เบื้องต้น ธนาคารได้สำรวจความเสียหายมีลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบประมาณ 4 แสนราย มูลค่าสินเชื่อกว่า 1.8แสนล้านบาท
ทั้งนี้ วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่อนโยบายรัฐบาลปีที่แล้ว ที่ได้ออกโครงการปสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ร่วมกับสถาบันการเงินทั้งหมด 18 แห่ง ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี เพื่อให้แต่ละแห่งเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกู้ต่อ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ4ต่อปีระยะเวลากู้ 7 ปี ไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องขอยื่นกู้มาไม่เกิน 31 ธันวาคม 2559 -สำนักข่าวไทย