กรุงเทพฯ 19 ม.ค.- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) พอใจผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเกินเป้าหมาย เชื่อมั่นสิ้นปีแผน 2579 ผลิตไฟฟ้าได้ 19,000 เมกะวัตต์ เน้นย้ำคุมต้นทุน
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีพพ. กล่าวว่า ในปี 2559 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก สามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมายที่กำหนดโดยผลิตราว 9,000 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 8,000 เมกะวัตต์ เป็นผลมาจากการติดตาม โครงการค้างให้ผลิตได้จริง เช่น โครงการโซลาร์ล้างท่อ และมีการเปิดส่งเสริมพลังงานทางเลือกอื่นๆ ทั้งโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม
สำหรับในปีนี้ตามเป้าหมายจะต้องมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 12,000 เมกะวัตต์ โดยเมื่อ หักลบในส่วนของโครงการที่ได้ประกาศแผนไปแล้ว จะต้องดำเนินโครงการใหม่ราว 650 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องรอดูนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ว่า จะเห็นชอบแผนพลังงานทดแทนอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯที่ตกค้างอยู่รวมกว่า 500 เมกะวัตต์
“นโยบายรัฐบาลจะเน้นเปิดประมูลรับซื้อจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนรายเล็กแบบผสมผสานระหว่างชีวมวล/ชีวภาพ และเชื้อเพลิงอื่นๆ (เอสพีพีไฮบิด ) มากกว่า การรับซื้อจากรายเล็กมาก (วีเอสพีพี) โดยเน้นย้ำว่า ต้นทุนราคาจะต้องไม่สร้างภาระค่าไฟฟ้าต่อภาคประชาชน โดยเอสพีพี ก็ต้องเป็นการผลิตที่มากกว่า 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปและเป็นสัญญาFIRM เป็นหลัก”นายประพนธ์กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนอัตรารับซื้อ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กำลังจัดทำรายละเอียด ซึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการตามแผนพลังงานทดแทน 2558 ที่วางเป้าหมายสิ้นแผนในปี 2579 ประเทศไทยจะใช้พลังงานทดแทนทุกด้านร้อยละ 30 ในจำนวนนี้เป็นส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทดแทนร้อยละ 20 หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ซึ่งหากดำเนินการตามแผนได้ในปี 2579 แล้ว จะเทียบเท่ากับการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ราว 39,388 ktoe ซึ่งประเมินเป็นมูลค่าการลดใช้เชื้อเพลิง ฟอสซิลได้ 590,820 ล้านบาท (ราคาน้ามันดิบ 1 ktoe = 15 ล้านบาท) หรือประเมินเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ลด ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงานได้ราว 140 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) -สำนักข่าวไทย