กกต. 20 ม.ค.-“สมชัย” เผย กกต. มี 2 แนวทางปมว่าที่เลขาธิการ กกต. เชื่อประชุม กกต. 24 ม.ค.นี้จะมีความชัดเจน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารกลาง กล่าวว่า ในการประชุม กกต. วันที่ 24 มกราคมนี้ กกต.คงจะมีความชัดเจนกรณีเรื่องร้องเรียนของนายอำพล วงศ์ศิริ ที่ กกต.มีมติให้ว่าจ้างดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. ว่า กกต.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยส่วนตัวเห็นว่ามี 2 แนวทาง คือ 1.รอการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ระบุว่าอาจใช้เวลา 2 เดือนจากนี้ จึงจะมีความชัดเจนในเรื่องที่นายอำพลถูกร้องเรียน ซึ่งมีข้อสังเกตว่านายอำพลถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ตั้งแต่ปี 56 แต่จนปัจจุบันเรื่องยังอยู่ในชั้นการแสวงหาข้อเท็จจริง ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนที่ก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไรกว่าจะเข้าที่ประชุม ป.ป.ช. แต่คาดว่าโดยกระบวนการทั้งหมดอาจต้องใช้เวลานานพอสมควร
นายสมชัย กล่าวอีกว่า 2.ถ้ามองว่า กกต.เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานสูง การถูกร้องเรียนเพียงเท่านี้ หากให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. จะเกิดความด่างพร้อยกับองค์กร กกต.อาจจะมีมติไม่ทำสัญญาจ้างและพิจารณาคัดเลือกเลขาธิการ กกต.ใหม่ จากผู้สมัคร 5 คน โดยไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์อีกรอบ แต่จะไม่ใช้การเลื่อนลำดับผู้ที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับ 2 ต่อจากนายอำพลขึ้นมาเป็นเลขาธิการ กกต. ซึ่งหากใช้กระบวนการนี้ จะใช้เวลาเพียง 7-15 วัน ก็สามารถดำเนินการได้เสร็จ หรืออาจจะเลือกแนวทางการเปิดรับสมัครใหม่ ซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับที่ประชุม กกต.ว่าจะมีมติอย่างไร
นายสมชัย กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ปฏิเสธที่จะส่งกรรมการมาร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบจริยธรรมนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ว่า แนวทางการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจริยธรรมนายธีรวัฒน์ มี 2 แนวทาง โดยแนวทางที่ 1 คือ ได้กรรมการองค์กรอิสระที่ตอบรับแล้ว 1 คนมาทำหน้าที่เป็นประธาน และกรรมการนั้นอาจจะมาจากการทาบทามคนอื่นที่มีระดับต่ำกว่า ซึ่งสามารถดำเนินการได้ เพราะมีข้อกำหนดเพียงว่าคนที่เป็นประธานจะต้องเท่ากันหรือสูงกว่า หากเป็นไปตามแนวทางนี้คงไม่ทาบทามกรรมการองค์กรอิสระอื่นอีกแล้ว แต่ใช้กรรมการองค์กรอิสระเท่าที่ตอบกลับมา และแนวทางที่ 2 คือ หากเห็นว่ายังมีความจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบกรรมการที่เข้มข้น ต้องไปพิจารณาจากองค์กรอิสระอื่นที่เหลือที่ยังไม่มีการทาบทาม ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะมีเพียง 2 องค์กร คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้ามาร่วมไม่ได้ เพราะเป็นโจทก์ ถือเป็นต้นทาง ส่วน ป.ป.ช.ก็ปฏิเสธแล้ว และเป็นปลายทางที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสีย ดังนั้นต้องเอาองค์กรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทาง ปลายทาง ก็เหลือแค่ 2 องค์กร.-สำนักข่าวไทย