กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – ทีเอ็มบีชี้นโยบาย” ทรัมป์ ” และ BREXIT กดดันตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน คาดเงินบาทแกว่งระหว่าง 35.50-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.5
นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของปัจจัยการเมืองต่างประเทศ ทั้งนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ การที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ( BREXIT ) ในเดือนมีนาคม นี้ และผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป ( อียู) โดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งมีความกังวลว่าจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูเหมือนสหราชอาณาจักร เป็นปัจจัยสำคัญกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนในปีนี้ โดยตลาดการเงินคาดหวังต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐที่จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 0.25ในช่วงกลางปีและปลายปีนี้ ทำให้สิ้นสุดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าต่อเนื่องในครึ่งแรกของปีนี้
แต่ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 45 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และนโยบายอีกหลายอย่างที่อาจจะไม่เป็นตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ จะมีผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับตัวอ่อนค่า ประกอบกับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของกลุ่มอียูจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และ มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ของธนาคารญี่ปุ่นมีข้อจำกัด จะกดดันให้ค่าเงินยูโรและ เยนแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ขณะที่ค่าเงินบาทระหว่างปีมีโอกาสอ่อนค่าถึงระดับ 36.80 บาท คาดว่าปลายปีนี้จะกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินทุนไหลกลับจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะสามารถรองรับความผันผวนได้
“ปี 2559 เป็นปีที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงมากกว่าร้อยละ 5 คาดว่าความผันผวนจะยังคงอยู่แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับปีก่อน โดยขึ้นอยู่ผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป ( อียู) ว่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดหรือไม่ รวมทั้งขั้นตอนการออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร หากกระบวนการยืดเยื้อก็จะมีผลต่อความผันผวนต่อไป แต่หากเทียบกับเพิ่อนบ้าน มองว่าเงินบาทไทยมีเสถียรภาพมากกว่า” นายศรัณย์ กล่าว
ส่วนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยแรงส่งมาจากการลงทุนภาครัฐและรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวต่ำกว่าศักยภาพ ส่วนการส่งออกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดน้อยลง เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นของการนำเข้า โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2 จากร้อยละ 0.4 ในปีก่อน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้น อย่างไรก็ตามแม้เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น แต่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ตลอดปี 2560 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในขณะที่สภาพคล่องของระบบการเงินมีแนวโน้มลดลง จากการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และ การระดมทุนของภาครัฐผ่านการกู้ยืมและการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นจะมีผลกระทบทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีความต้องการสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นมาก อาจจะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นก่อนดอกเบี้ยนโยบาย.- สำนักข่าวไทย
ส่งจาก iPad ของฉัน