ทำเนียบฯ 25 ม.ค.-โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย นายกรัฐมนตรีย้ำในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กำชับทุกฝ่ายช่วยใต้แบบบูรณาการ พร้อมให้กระทรวงเกษตรฯ จัดสรรงบเยียวยาและชดเชยความเสียหายทางการเกษตร ขณะที่ กระทรวงคมนาคม จัดสรรงบซ่อมแซมถนน-สนามบิน-เส้นทางรถไฟ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลง ภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ วันนี้ (25 ม.ค.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไว้วางโครงสร้างการทำงานของทุกหน่วยงานไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการฯ แล้วส่งต่องานให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนจะกระจายงานไปยังจังหวัดต่างๆ ให้การทำงานทั่วถึงไม่ซ้ำซ้อน โดยหน่วยงานใดจะดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ต้องประสานมายังกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยส่วนหน้าก่อน
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้แบ่งส่วนงานแก้ปัญหาเป็น 2 ส่วน คือ งานที่ทำทันที เช่น การซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน โรงเรียน การช่วยเหลือเกษตรกรสร้างอาชีพ สร้างพนังกั้นน้ำ โดยสำนักปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ จะบูรณาการใช้งบประมาณ และงานระยะยาว คือ การปรับปรุงพื้นที่ซึ่งมีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ พบว่ามี 111 แห่งใน 12 จังหวัดภาคใต้ โดยจะปรับปรุงทั้งการทำสะพาน วางท่อระบายน้ำ ขุดคลองผันน้ำ ให้น้ำไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น เช่น การขุดคลองท่าดี จ.นครศรีธรรมราช รวมถึง ฟื้นฟูป่าพรุควนเคร็ง
“นายกรัฐมนตรียังกำหนดให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนเผชิญเหตุ และแผนสำรอง รับมือสถานการณ์แบบทหาร การดำเนินการทุกขั้นตอนประชาชนต้องรับรู้และมีส่วนร่วม” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
สำหรับมาตรการเยียวยาเกษตรกร ที่ประสบปัญหาอุทกภัยภาคใต้ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ข้อมูลจนถึงขณะนี้ จะมีการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ครัวเรือนละ 3,000 บาท ขยายเวลาชำระหนี้ 6 เดือน ลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ซึ่งต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้กองทุนสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมี 370,000 ราย ให้สินเชื่อด้านประมง ในกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย การจ้างงานชลประทาน วันละ 300 บาทต่อวัน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าววย่า ขณะที่ การชดเชยความเสียหายพืชผลทางการเกษตร ข้าวจะมีการชดเชย 1,113-33,350 บาทต่อราย พืชไร่ 1,148-34,440 บาทต่อราย ไม้ผลและปาล์ม 1,690-50,700 บาทต่อราย ยางพารา 1,690-50,700 บาทต่อราย และทุนปลูกแทน 16,000 บาท ต่อไร่ ปสุสัตว์ โคกระบือ 6,000-44,000 บาทต่อราย แพะ แกะ สุกร 1,000-30,000 บาทต่อราย สัตว์ปีก 20-80,000 บาทต่อราย ประมง ปลาทุกชนิด 4,224-21,125 บาทต่อราย กุ้ง ปู หอย 10,920-54,600 บาทต่อราย กระชังบ่อ 315-25,200 บาทต่อราย และจะมีการช่วยเหลือค่าเครื่องมือประกอบอาชีพไม่เกิน 11,000 บาทต่อครัวเรือน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงจะใช้งบประมาณการฟื้นฟูทางหลวง ปรับปรุงสภาพผิวจราจร ก่อสร้างปรับปรุงสะพานที่เสียหาย ทำท่อลอด เป็นเงินกว่า 2,739 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท จะใช้งบฟื้นฟูกว่า1,013 ล้านบาท และมีงบประมาณซ่อมแซมท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชกว่า 446 ล้านบาท เส้นทางรถไฟกว่า 1,925 ล้านบาท รวมงบของกระทรวงคมนาคมทั้งหมด กว่า 6,125 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย