ทำเนียบฯ 15 พ.ย. – นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนครั้งที่ 2 ปี 2560-2565 เพื่อเป็นกรอบและแนวทางส่งเสริมและพัฒนาองค์กรการเงินระดับฐานราก หวังสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนผ่านการสร้างรายได้ในชุมชน การลดภาระทางการเงิน และเปิดโอกาสให้ประชาชนรายได้น้อยต่างจังหวัดห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพผ่านการตั้งสถาบันการเงินชุมชน
ทั้งนี้ แบ่งแนวทางการพัฒนาออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์แรก การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก โดยการเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับฐานราก ผ่านการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ และสนับสนุนการออมในชุมชน รวมถึงการลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร สร้างทักษะให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเน้นสร้างความเข้มแข็งองค์กรการเงินชุมชนให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนให้สถาบันการเงินประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมประชาชนระดับฐานรากมากขึ้น สร้างเครือข่ายองค์กรการเงินในชุมชน มอบมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินเป็นพี่เลี้ยงวางระบบการรับ ฝาก ให้สินเชื่อ พัฒนาระบบข้อมูลการเงินในชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยเน้นพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน โดยพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงศึกษาและยกร่างกฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อรองรับการเข้าถึงบริการทางการเงิน
นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน ขณะที่รัฐบาลกำลังวางระบบพร้อมเพย์เพื่อให้ประชาชนโอนเงินโดยจ่ายค่าธรรมเนียมลดลงมาก ปัจจุบันกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ในชุมชนกว่า100,000 แห่ง จึงต้องมีระบบช่วยเหลือและตรวจสอบบัญชี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกสถาบันการเงินชุมชน.-สำนักข่าวไทย