กรุงเทพฯ 15 พ.ย. – บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (พีทีทีจีซี) ยอมรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอาจชะลอรอดูนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ พร้อมเดินหน้าสนองนโยบาย “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ของรัฐบาล ด้วยการลงทุน เบื้องต้น 5 หมื่นล้านบาทในระยอง พร้อมคุยญี่ปุ่นลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พร้อมสร้างมูลค่าบริหารเงินสด ลงทุนตราสารหนี้ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนรายได้ปีหน้าคาดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 22 จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและโรงงานเดินเครื่องผลิตเต็มที่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) พีทีทีจีซี กล่าวว่า โครงการ US Petrochemical Complex ในหสรัฐ เดิมตั้งเป้าหมายจะสรุปโครงการเพื่อเดินหน้าลงทุนไตรมาส 1 /2560 อย่างไรก็ตาม โครงการนี้คงจะต้องชะลอไปก่อนเพื่อรอดูนโยบายที่ชัดเจนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งการลงทุนในประเทศและนโยบายต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้ปัจจุบันมีพันธมิตรหลายรายให้ความสนใจจะเข้าร่วมทุน ผลิตเอทิลีนขนาด 1 ล้านตัน/ปี ใช้วัตถุดิบก๊าซอีเทนจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) โดยโรงงานจะตั้งอยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐ เม็ดเงินลงทุนรวม 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“หากโครงการสหรัฐล่าช้าก็ไม่กระทบอะไรนัก โดยทางบริษัทเน้นการลงทุนในไทยตอบสนองโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ด้วยโครงการ Map Ta Phut Retrofit โครงการ PO/Polyols หรือโพลียูรีเทน ครบวงจรที่จะเริ่มลงทุนปีหน้าเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท และยังศึกษาสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องชักชวนญี่ปุ่นลงทุน 7 โครงการ รวมถึง Project MAX ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มในช่วง 3 ปีนี้ถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ Map Ta Phut Retrofit ได้แก่ โครงการ Olefins Reconfiguration (ORP) เป็นโครงการที่นำแนฟทาจากโรงกลั่นของบริษัทมาเป็นวัตถุดิบ (Feedstock) เพื่อผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน/ปี โพรพิลีน 261,000 ตัน/ปี จะเริ่มผลิตภายในปี 2563 เพื่อต่อยอดไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมขั้นต่อเนื่อง (Downstream) ในสายการผลิตต่าง ๆ ถือเป็นการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ เป็นการสนับสนุนนโยบาย New S-Curve และ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยพีทีทีจีซีลงนามข้อสัญญาเบื้องต้น (Head of Agreement : HOA) กับ บริษัท Kuraray Co., Ltd. และ บริษัท Sumitomo Corporation เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง (Super Engineering Plastics) ประเภท High-Heat Resistant Polyamide-9T (PA9T) กำลังการผลิต 13,000 ตัน/ปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) กำลังการผลิต 16,000 ตัน/ปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อพิจารณาตัดสินใจลงทุนตามข้อตกลงจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายในปี 2560 และเริ่มผลิตได้ภายในปี 2563
นอกจากนี้ พีทีทีจีซี ได้ขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) และ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยตั้งเป้าหมายขายเม็ดพลาสติกในซีแอลเอ็มวี 2 ล้านตันภายใน 5 ปีนี้มูลค่า 100,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 25 จากปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 6 หรือ 13,000 ตัน/ปี ซึ่งนับว่าเติบโตอย่างมาก และจะเป็นตลาดรองรับกรณีได้รับผลกระทบจากตลาดในจีน ตั้งเป้าหมายลดยอดขายจากร้อยละ 35-39 เป็นร้อยละ 30 ของตลาดส่งออก โดยล่าสุดบริษัทได้ลงนาม เอ็มโอยูร่วมกับบริษัท เอส.พี.เพ็ทแพคผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกของไทยลงทุนสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศเมียนมาร์
สำหรับปี 2560 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณร้อยละ 20-25 หรือ 400,000 ล้านบาทจากปีนี้ที่มีรายได้ประมาณ 320,000 ล้านบาท เนื่องจากปีหน้าคาดราคาน้ำมันดิบดูไบจะขยับขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 40-50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็น 45-55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และปีหน้ากำลังผลิตโดยรวมจะดีขึ้นกว่าปีนี้ เพราะปีนี้มีการปิดซ่อมใหญ่ทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี ขณะเดียวกันบริษัทมีกระแสเงินสด 42,000 ล้านบาท โดยบอร์ดเห็นชอบให้นำเงิน 10,000 ล้านบาท ไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ลงทุนแล้วโดยว่าจ้าง บลจ.ผู้เชี่ยวชาญมาลงทุน 6,000 ล้านบาท และบริษัทบริหารเองกว่า 3,000 ล้านบาท ผลตอบแทนขณะนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งกระแสเงินสดนี้เป็นส่วนที่จะนำไปลงทุนโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2559 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 89,714 ล้านบาท กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 12,210 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 6,226 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.40 บาทต่อหุ้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 416 จากไตรมาส 3/2558 โดยผลประกอบการงวด 9 เดือน บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 236,022 ล้านบาท EBITDA 31,844 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 15,858 ล้านบาท. -สำนักข่าวไทย