รัฐสภา 2 ก.พ.- 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นค้านร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ จี้ชะลอ เปลี่ยนตัวประธาน
ผู้สื่อข่าวรายงาน เวลา 9.30 น. ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ 30 องค์กรนำโดยนำโดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จและเตรียมเสนอต่อที่ประชุม สปท.
30 องค์กรสื่อเห็นตรงกันว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของหลักการ ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นหลักการควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน และไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ
ที่ผ่านมา องค์กรสื่อได้พยายามคัดค้านท้วงติง ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เน้นหลักการส่งเสริมเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงการกำกับดูแลกันเองของคนในวิชาชีพ ให้กรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชนฯ สปท. พิจารณา มาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้รับความสนใจและมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมากยิ่งขึ้น โดยจะมีผลให้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาครอบงำสื่อมากกว่าที่ผ่านมา
ดังนั้น 30 องค์กรสื่อจึงขอเรียกร้องไปยังสมาชิก สปท.ให้ชะลอการให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้กรรมาธิการนำกลับไปทบทวนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พร้อมต้องการให้เปลี่ยนประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนฯ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจการทำงานปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริงเข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะประธานคนปัจจุบันยอมรับว่าไม่มีความรู้ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าผู้แทนองค์กรวิชาชีพให้การยอมรับร่างกฎหมายแล้ว และยืนยันว่า องค์กรสื่อ พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกด้านกับ สปท. เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างแท้จริง
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ยืนยันว่า จะนำเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าว เข้าที่ประชุม ของกรรมาธิการเพื่อพิจารณาให้สอดสอดคล้องกันแนวทางการปฏิรูปที่ สปท. วางไว้ รวมถึงวิป สปท. แต่จะถึงขั้นพักการพิจารณาเรื่องนี้ไว้ก่อนหรือไม่นั้นก็ต้องรอฟังวิปสปท. พร้อมยืนยันว่าสนับสนุนหลักสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบของสื่อมวลชน ให้อิสระปราศจากการครอบงำจากรัฐและกลุ่มทุน แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการเชิญตัวแทนสื่อเข้าร่วม.-สำนักข่าวไทย