รัฐสภา 16 พ.ย.-สมชัย มั่นใจคุณสมบัติการเป็นกกต.ของตนเอง ไม่เข้าข่ายพ้นสภาพตามคุณสมบัติใหม่ แต่ห่วงการนำไปใช้ที่ไม่เป็นธรรมต่อทุกองค์กรอิสระ ขาดความต่อเนื่องในการทำงาน ย้ำ กฎหมายไม่ควรมีผลย้อนหลังในเชิงเป็นโทษ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึง การแถลงข่าวเกี่ยวกับเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ว่า ไม่ได้เป็นการตอบโต้กรธ. แต่เป็นการสื่อสารถึงหลักการที่ถูกต้อง เหมาะสม เพราะขณะนี้กฎหมายทุกฉบับอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย และกกต.เป็นผู้นำกฎหมายดังกล่าวไปใช้ สิ่งใดที่เห็นว่าอาจเป็นปัญหาในการปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นจากกฎหมาย จึงต้องสื่อสารออกไปในฐานะผู้ปฏิบัติว่ามีปัญหาอย่างไร
“ไม่อยากให้เป็นกฎหมายที่มาจากผู้ร่างที่คิดในมุมมองวิชาการ หรือฝันเฟื่องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นห่วงกรณีที่กรธ.จะกำหนดให้ กกต.มีคุณสมบัติที่สูงขึ้น เพราะไม่ได้เข้าข่ายต้องพ้นสภาพจากการเป็นกกต. ซึ่งในคุณสมบัติกำหนดว่าต้องทำงานในภาคประชาสังคมมาไม่น้อยกว่า 20 ปี และผมทำงานในองค์กรกลางมาตั้งแต่ปี 2535 และทำงานภาคประชาสังคมต่อเนื่องมาตลอด 24 ปี” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดคุณสมบัติที่สูงขึ้น ควรนำไปใช้กับบุคคลในองค์กรอิสระเพียงบางองค์กรหรือไม่ หากใช้กับบางองค์กร จะถือว่าเลือกปฏิบัติ และเป็นการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือหากจะนำไปใช้กับทุกองค์กรอิสระ ก็มองว่า เป็นหลักการที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากในวันที่ทุกคนเข้ามาทำงาน เข้ามาภายใต้กฎหมายหนึ่ง ซึ่งต้องลาออกจากหน้าที่เพื่อรับตำแหน่งใหม่ เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง คุณสมบัติกลับเปลี่ยนไป ต้องออกจากตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว จึงถือว่าไม่เป็นธรรม
“อยากให้ลองสำรวจว่าใครบ้างในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะพบว่ามีจำนวนมาก เช่น การกำหนดคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายเดิม มาจากสายรัฐศาสตร์ 2 คน สายนิติศาสตร์ 2 คน แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้มาจากสายรัฐศาสตร์ 1 คน นิติศาสตร์ 1 คน เท่ากับว่า ต้องจับฉลากให้ออกหนึ่งคนใช่หรือไม่ และจะเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกจับฉลากให้ออกหรือไม่ หรือการกำหนดคุณสมบัติใหม่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี ลองไปตรวจสอบจะพบว่าทุกคนไม่ครบ 5 ปี จึงเห็นว่ากฎหมายไม่ควรมีผลย้อนหลังในเชิงเป็นโทษ กฎหมายควรเดินหน้าให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนครบวาระ ยกเว้นแต่กระทำผิดต่อหน้าที่ก็ถอดถอนตามกระบวนการ นอกจากนี้ หากจะให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง ต้องการผู้มีประสบการณ์ ทำงานมานาน และรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรมาทำงานต่อไป” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า การร่างกฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมา บทเฉพาะกาลในกฎหมายลูก จะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆอยู่ต่อไปจนครบวาระ เพียงแต่ครั้งนี้ มีการเพิ่มเติมคุณสมบัติ จึงเกิดแนวความคิดว่า ต้องตรวจสอบคุณสมบัติ แต่หากตรวจสอบคุณสมบัติก็จะเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ไม่ใช่เพียงแค่ กกต. แต่สุดท้าย การกำหนดคุณสมบัติก็ต้องขึ้นอยู่กับ กรธ. ทั้งนี้ ยอมรับว่า ยังติดใจเรื่องแนวคิดการให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งขึ้นมาทำหน้าที่แทนกกต.จังหวัด เพราะเป็นวิธีการคิดแบบจินตนาการ หวังลดปัญหากกต.จังหวัดที่อาจอยู่ภายใต้อิทธิพลฝ่ายการเมือง โดยนำคนนอกพื้นที่ไปทำงาน แต่ผลที่จะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้ง คือ ต้องเสียเงินไปอีก 150 ล้านบาทกับแนวคิดดังกล่าว โดยที่ไม่รู้ว่า จะปฏิบัติได้จริงหรือไม่.-สำนักข่าวไทย