ยะลา 16 พ.ย.- คุณปู่วัย 60 ปี ป่วยโรคท้าวแสนปม อาศัยบ้านพักคนงานกรีดยางตามลำพัง ไม่มีใครรับมทำงาน วอนสังคมช่วยเหลือ เผยต้องการไปถวายสักการะพระบรมศพ
วันนี้ (16 พ.ย.) นายมนูญ พรมน้อย ปลัดอาวุโสอำเภอเบตง นำถุงพระราชทาน ข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องดื่ม และเงินสดจำนวนหนึ่ง มอบให้กับ นายชิติ เจริญรัตนประภา อายุ 60 ปี ชาวกรุงเทพฯ ผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม ที่อาศัยอยู่เพียงลำพังในบ้านเลขที่ 30 บ้านจับยี่ลุ่ย หมู่ 1 ตำบลธารน้ำทิพย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นบ้านพักแรงงานพม่าที่รับจ้างกรีดยางในพื้นที่ ไม่มีอาชีพอะไร เพราะไปหางานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ ความเป็นอยู่ด้วยความยากลำบาก
นายชิติ เล่าให้ฟังว่า ตนมีพี่น้อง 3 คน แต่ไม่ได้เป็นโรคท้าวแสนปมเหมือนตน ตนป่วยเป็นโรคท้าวแสนปมมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ไม่เคยได้รับการติดต่อจากญาติพี่น้องเลย จึงมุ่งทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่ก็ไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน เพราะรังเกียจโรคที่เป็น จึงต้องอาศัยอยู่กับน้องชายที่ย่านสายไหม แต่น้องชายก็มีฐานะยากจน และอาศัยอยู่ตัวคนเดียวเช่นกัน ซึ่งตนอยู่ไปก็มีแต่คนรังเกียจ บางครั้งคิดน้อยใจจะฆ่าตัวตาย จนมีเพื่อนชาวพม่าในละแวกนั้นชักชวนตนลงมาอยู่มาหางานทำที่ อำเภอเบตง ตนจึงได้เดินทางลงมาอยู่กับเพื่อน ซึ่งรับจ้างกรีดยางที่อำเภอเบตง ประมาณ 5-6 เดือนแล้ว กระทั่งเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนชาวพม่าได้ถูกจับกุมข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ทางการได้ส่งตัวกลับไปยังประเทศแล้ว ตนจึงได้อยู่เพียงลำพัง จนกระทั่งชาวบ้านที่ทราบข่าว เห็นความลำบาก ได้นำอาหารมาให้ ตนอยากกลับไปยังบ้านเกิดที่กรุงเทพฯ เพื่อไปถวายสักการะพระบรมศพ สักครั้งหนึ่งในชีวิตนี้
ด้านนายแพทย์บรรยง เหล่าเจริญสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง กล่าวว่า โรคท้าวแสนปม ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ติดต่อทางการสัมผัส หรือการหายใจ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เป็นโรคผิวหนังที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากเซลล์เยื่อหุ้มประสาทเจริญผิดปกติกลายเป็นเนื้องอกขึ้นตามผิวหนัง โดยก้อนเนื้อจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ร้อยละ 2-5 ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีเนื้องอกตะปุ่มตะป่ำทั่วตัว มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง กระจายไปเต็มตัว บางรายอาจมีไม่กี่ตุ่ม แต่ส่วนใหญ่ร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป ในการรักษา เป็นการรักษาตามอาการ โดยวิธีตัดก้อนเนื้อที่ก่อให้เกิดความรำคาญโดยเฉพาะก้อนใหญ่ที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ก้อนที่มีน้ำหนักมาก ถ่วง หรือปิดรูหู ปิดปาก หรือปิดตาทำให้ลืมตาไม่ขึ้น ไม่สะดวกในการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตามหลังผ่าตัดก้อนเนื้อออกแล้ว ก้อนเนื้อก็จะงอกขึ้นมาใหม่ได้ ดังนั้นเพื่อนบ้าน บุคคลใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่ควรแสดงความรังเกียจผู้ป่วย เนื่องจากไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ยังสามารถให้การช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันได้เหมือนคนปกติทั่วไป.-สำนักข่าวไทย