กระทรวงอุตสาหกรรม 10 ก.พ.-นายกฯ ย้ำการทำงานของ ป.ย.ป.เป็นการทำงานเพื่ออนาคต เป็นการสร้างกลไกขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ อย่ามองเป็นการเปิดเวทีเพื่อให้เครดิตใคร เชื่อเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายร่วมพูดคุยหาทางออกให้ประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2560 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ถึงการทำงานของรัฐบาลในขณะนี้ ว่า วันนี้ต้องแสวงหาการทำงานในลักษณะการปฎิรูป เพื่อให้เกิดการปรองดอง โดยยึดจากปัญหาทุกด้าน ทั้งเรื่องประชาธิปไตย ความเลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนระบบการศึกษา ซึ่งได้มีการให้แนวคิดคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ไปดำเนินการแล้ว จึงขออย่ากังวล
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของ ป.ย.ป. ว่า รู้สึกยินดีที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนได้ตอบรับเข้าาร่วมการทำงาน โดยเฉพาะนายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ก็ได้ตอบรับเข้าร่วมแล้ว ซึ่งการทำหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิ จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในแต่ละด้าน ขณะที่บางคนที่ไม่สะดวกเข้าร่วม ก็ส่งตัวแทนเข้ามาช่วยงาน
“ขออย่ากังวลการทำหน้าที่ของ ป.ย.ป. และส่วนตัวไม่อยากให้มองว่าเป็นการเปิดเวทีเพื่อฟอกตัวหรือให้เครดิตใคร แต่อยากให้มองว่าเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุย หาทางออกให้ประเทศ การทำงานของ ป.ย.ป. เป็นการทำงานเพื่ออนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างกลไกขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นการทำงานของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พร้อมขออย่ากดดันและจับผิดการทำงาน เพราะเชื่อว่าทุกคนตั้งใจจริง และปัญหาก็มีมาอย่างยาวนาน และไม่สามารถแก้ไขได้ใน 3 เดือน แต่จะนำปัญหามาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ขณะที่ภาคเอกชน มีความพร้อมในการร่วมมือกับ ป.ย.ป. และที่ผ่านมาก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด และมีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงสะท้อนจากฝ่ายการเมือง เกี่ยวกับแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความเห็นที่แตกต่างในประเด็นที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ขอให้ระลึกถึงประเทศชาติและจุดยืนของไทยในเวทีโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ความขัดแย้งลดลง และมองว่าปลายทางไม่จำเป็นต้องทำเป็นสัญญาประชาคม เพราะแม้จะลงนามในสัญญาก็ยังทำผิดข้อตกลงได้ แต่สิ่งที่พูดไว้กับประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นสัญญาที่ต้องทำตามที่ให้ไว้.-สำนักข่าวไทย