กทม. 15 ก.พ.-นักวิชาการชี้ชัดในระยะเวลาอันใกล้นี้ กรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสถูกน้ำท่วมถาวรแน่นอน แต่มีความเสี่ยงสูงในระยะยาวอีก 50 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะฝั่งธนบุรีและฝั่งตะวันออก อาจจมหายบางส่วนได้
นักวิชาการด้านธรณีวิทยาให้ข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้ประเทศไทยบางส่วน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จมอยู่ใต้บาดาลในปี 2563 จริงหรือไม่ ในเวทีเสวนา โดยเห็นตรงกันว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากผลการศึกษาพบว่าระดับน้ำทะเลในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงประมาณ 3.2 มิลลิเมตรต่อปี หากจะท่วมกรุงเทพฯ แบบถาวร ระดับน้ำทะเลต้องเพิ่มขึ้นถึงปีละ 1-2 เมตร
เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรน้ำ ศึกษาวิจัยความเสี่ยงของกรุงเทพฯ ให้กับธนาคารโลก หลังจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือไอพีซีซี ระบุว่าเป็น 1 ใน 30 เมืองทั่วโลกที่มีความเสี่ยงจมใต้บาดาลในปี 2563 โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ และใช้ข้อมูลปริมาณน้ำและปัจจัยต่างๆ เทียบเคียงกับน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พบว่าเกิดน้ำท่วมรุนแรงทุกๆ 10-15 ปี แต่ไม่ท่วมแบบถาวรในปี 2563 อย่างแน่อน เนื่องจากมีคันกั้นน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และระบบป้องกันน้ำที่รองรับได้ถึง 50 ปีข้างหน้า
งานวิจัยและแบบจำลองของหลายหน่วยงานระบุตรงกันว่าระดับน้ำทะเลต้องเพิ่มจากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 3 เมตร จึงจะทำให้พื้นที่อ่าวไทยจมถาวร และโอกาสที่กรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำก็เป็นไปได้ เพราะเมื่อ 6,000 ปีก่อน ก็เคยจมอยู่ใต้ท้องทะเลอยู่แล้ว
แต่สิ่งสำคัญมากกว่าในขณะนี้คือการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมาหลายสิบปี ทำให้ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินหายไปประมาณ 79,000 ไร่ คาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า แผ่นดินชายฝั่งของไทยจะหายไปอีกไม่ต่ำกว่าประมาณ 63,000 ไร่ โดยสมุทรปราการจะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และสมุทรสงคราม.-สำนักข่าวไทย