กทม. 17 พ.ย. – ธรรมเนียมปฏิบัติ พระราชพิธีพระบรมศพในอดีต เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะได้เข้าร่วมพระราชพิธี แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พสกนิกร มีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำมาซึ่งความเศร้าโศกอาดูรแก่พสกนิกรทั้งแผ่นดิน มีธรรมเนียมปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพิธีพระบรมศพตามโบราณราชประเพณี ตามธรรมเนียมราชสำนักหลายประการ เป็นการยากที่ราษฎรจะรับทราบ เพราะล้วนเกิดขึ้นในกำแพงพระบรมมหาราชวัง
อ.ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานพระราชพิธี มีโอกาสสนองงานในพระราชพิธีพระบรมศพ และงานออกพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรยายธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านายสมัยรัตนโกสินทร์ไว้อย่างลึกซึ้งว่า มีบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับธรรมเนียมพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เริ่มจากการไว้ทุกข์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามรัชสมัย ธรรมเนียมการโกนศีรษะไว้ทุกข์ถูกยกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระราชดำริของพระชนกนาถ รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ธรรมเนียมนี้สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร และการแต่งขาวเปลี่ยนแปลงในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นการแต่งดำไว้ทุกข์สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน
พระโกศทองใหญ่ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในชั้นแรกนี้ เป็นพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 5 ซึ่งพระโกศทองใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ คือ รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9
พระราชพิธีถวายพระเพลิง เป็นขั้นตอนสำคัญในพระราชพิธีพระบรมศพ เพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย สถานที่ถวายพระเพลิงในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีบันทึกไว้ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกว่า ทุ่งพระเมรุ คือ สนามหลวงในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปี 2338 เป็นเวลา 221 ปี จวบจนปัจจุบัน และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในงานพระราชพิธีออกพระเมรุถวายพระเพลิง มีพระบรมราชานุญาตให้จัดซุ้มดอกไม้จันทน์รอบสนามหลวง ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย มาตั้งแต่งานออกพระเมรุสมเด็จย่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร
งานออกพระเมรุถวายพระเพลิง แม้จะเป็นการน้อมส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัยครั้งสุดท้าย แต่ทุกพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทของพระองค์ จะยังคงสถิตในหัวใจพสกนิกรไทยชั่วนิรันดร์. – สำนักข่าวไทย