กรุงเทพฯ 2 มี.ค.-รองเลขาฯ กกต.ชี้แจงข้ามประเทศจากเกาหลีใต้ ยืนยันคณะกกต.ดูงานญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ไม่ได้ไปเที่ยว ใช้งบประหยัด ได้ประโยชน์มากเตรียมการเลือกตั้งในอนาคต
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการกกต. ซึ่งเป็นประธานกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรการบริหารงานสำหรับผู้บริหารระดับสูง (กบส.) รุ่นที่ 2 ของสำนักงานกกต. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อชี้แจงกรณีที่กกต.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกกต.เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ถึง 5 มีนาคมนี้ ว่า เป็นการไปดูงานจริง โดยคณะที่เดินทางญี่ปุ่นจะเน้นการดูงานเรื่องระบบการหาเสียง ที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่และร่างการเลือกตั้ง ส.ส.ได้นำแบบอย่างของญี่ปุ่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดขนาดป้ายหาเสียง การจัดพื้นที่ปิดป้ายหาเสียง
“ส่วนคณะที่เดินทางไปเกาหลีใต้ จะเน้นเรื่องเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิคส์ โดยเฉพาะการเดินทางไปดูงานที่The Association of World Election Bodies.(A-Web) จะไปดูวิวัฒนาการของเครื่องลงคะแนน ที่ทาง A-Web ได้รวบรวมเครื่องลงคะแนน เครื่องนับคะแนนจากทั่วโลกมาไว้เพื่อไห้ศึกษา ซึ่งจะสอดคล้องกับที่กกต.พัฒนาเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิคส์ ที่จะนำไปใช้ในการเลือกตั้งในอนาคต” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันจะไปดูเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) ซึ่งในเรื่องดังกล่าวเกาหลีใต้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกกต.เกาหลี แต่ของไทยยังไม่มีเจ้าภาพชัดเจน และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) มีแนวความคิดเสนอให้สถาบันพระปกเกล้าฯเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกกต.ไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมากกต.ดำเนินการเรื่องดังกล่าว ชื่อโครงการพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย และขยายไปสู่ระดับตำบล เช่น ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยระดับตำบล(ศส.ปชต.) กกต.จะนำต้นแบบของเกาหลีมาผลักดันให้ กกต.ได้เป็นเจ้าภาพดำเนินการเรื่องนี้
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ทั้งสองคณะจะมีโอกาสหารือร่วมกับสถานทูตไทยใน 2 ประเทศเรื่องการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะตามร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.จะให้นับคะแนนที่สถานทูต ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานทูตจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งที่ยังไม่มีความชำนาญ จึงต้องหารือพูดคุยกัน
“ยืนยันว่าไม่ได้เที่ยวเลย เป็นการไปดูงานที่เหนื่อยมาก แต่ได้ประโยชน์เยอะ ใช้งบประมาณไม่มาก เราพยายามใช้งบประมาณอย่างประหยัด โดยทั้งสองคณะที่ไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เดินทางโดยนั่งเครื่องชั้นประหยัด ไม่มีผู้ติดตามส่วนตัว แต่ใช้พนักงานที่ดูแลคณะคอยอำนวยความสะดวก ขนาดห้องพักยังเป็นห้องพักราคาเดียวกับที่ผู้เข้ารับการอบรมพัก ทั้งสองคณะใช้งบฯไม่เกิน 5 ล้านบาท เมื่อกลับมาแล้วต้องทำรายงานเสนอกกต. การไปครั้งนี้จึงถือว่าคุ้มค่า” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า ทำไมต้องไปคณะใหญ่ ทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปดูงาน โดยที่กกต.ไม่ต้องไป พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าอบรมรุ่นนี้จะขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงในอนาคต ต้องเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ทางสำนักงานจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องไปศึกษาเรียนรู้และบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ เช่น ระบบการหาเสียง ส่วนที่กกต.ต้องไปด้วย เพราะว่าต้องเข้าพบผู้นำองค์กร จึงถือเป็นการให้เกียรติกับหน่วยงานนั้น ๆ และคณะจะได้รับการต้อนรับที่ดี และการไปดูงานไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ส่วนเหตุใดที่รุ่นก่อนหน้านี้จึงไม่มีการดูงานต่างประเทศ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า เท่าที่จำได้รุ่นที่แล้วเป็นช่วงที่สำนักงานกกต.ประสบปัญหาเรื่องเงิน และเป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ จึงงดไปดูงานต่างประเทศ ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีมีนโยบายไม่อยากให้เดินทางไปดูงานต่างประเทศ ทางกกต.ไม่ได้มีหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าหากเป็นเรื่องจำเป็นก็สามารถทำได้ ซึ่งเราใช้งบฯอย่างประหยัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(1 มี.ค.) เมื่อคณะของนายบุญส่ง น้อยโสภณและนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. พร้อมคณะผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรกบส. รุ่นที่ 2 ไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าพบนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตและคณะ ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในประเทศญี่ปุ่นในอดีต เพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคตให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเผยแพร่รายละเอียดการศึกษาดูงานพร้อมภาพของคณะทางไลน์ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ใช้ในการประสานกับสื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเดินทางร่วมคณะไปประเทศเกาหลีใต้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต.ได้เดินทางไปดูงานเลือกตั้งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ตามคำเชิญของ A-WEB ระหว่างวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย.-สำนักข่าวไทย