จ.อยุธยา 21 ก.พ.-อธิบดีกรมศิลป์ฯ นำคณะลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงสร้างเสาเอก ก่อนเคลื่อนย้ายสู่ท้องสนามหลวงพรุ่งนี้ เวลา16.49น. ก่อนทำพิธีบวงสรวงและยกเสาเอกพระเมรุมาศ 27 ก.พ.นี้ เวลา10.01น.คืบหน้าตามเวลาที่กำหนด
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมคณะทำงานสร้างพระเมรุมาศ ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการประกอบโครงสร้างเหล็กสำหรับใช้ในงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ที่บริษัท เอสที เฟรม แอนด์ ทรัส ต.โพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปประกอบในพิธียกเสาเอกพระเมรุมาศ 27 ก.พ.ถือกฤษ์เวลา10.01น.ที่สนามหลวง
โดยพิธีเคลื่อนเสาเอกพร้อมโครงสร้างรับเสา หรือซุปเปอร์ทรัส จะเริ่มในวันพรุ่งนี้ 22 ก.พ.เวลา 16.49น.ถึงสนามหลวงไม่เกินเวลา 23.00น.พร้อมติดตั้ง ส่วนเสาโทและต้นที่3และ4 จะทยอยขนย้ายไม่เกินวันที่26ก.พ.โดยเสาทั้ง4ต้น สูง 23.5 เมตร น้ำหนักรวม4 ต้นไม่เกิน80 ตัน แต่ละต้นไม่เกิน 20 ตัน ใช้รถเครนขนาด 220 ตันจำนวน 5 คันในการยก ซึ่งมีความแข็งแรงกว่า10 เท่าของน้ำหนักเหล็กโดยกำหนดจุดวางเสาเอก อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือฝั่งศาลฏีกา โครงสร้างเหล็กที่ใช้ คือเหล็กกล่องทั้งหมดซึ่งมีความแข็งแรง สามารถรับแรงทั้ง4 ด้านเมื่อใช้ร่วมกับงานวิจิตรศิลป์ไม่ทำให้โครงสร้างพริ้วไหว โดยโครงสร้างรับเสา ซุปเปอร์ทรัส ความสูง 1.80 เมตร น้ำหนัก 16 ตัน โดยโครงสร้างรับเสาตั้งอยู่บนฐานคอนกรีตชนิดหล่อ วางรองรับน้ำหนักเสาทั้ง4ต้น ยึดกันเป็นกรอบสีเหลี่ยมจตุรัสบริเวณฐานอาคาร และกระจายน้ำหนักแยกกันทั้ง9 ยอด ฐานรากรับน้ำหนักส่วนอื่นใช้ระบบฐานรากหล่อคอนกรีตสำเร็จ โดยวิศกรได้คำนวนอัตราส่วนความปลอดภัย ประมาณ 2 เท่า เพื่อความมั่นคงแข็งแรง และยังคำนวนออกแบบรับแรงสั่นสะเทือนจากแรงลมทั้งทางตรงและทางด้านข้างตามข้อกำหนดของวิศวกรรม รวมถึงน้ำหนักการต้านลมของยอดพระนพปฎลเศวตฉัตร และพระวิสูตรหรือม่านขนาดใหญ่ ให้โครงสร้างสามารถรับแรงได้อย่างปลอดภัย
ในการลงพื้นที่วันนี้ อธิบดีกรมศิลปากรพร้อมคณะร่วมในทาสีรองพื้นและสีกันไฟเสาเอก หนา500 ไมคอนและในวันที่24ก.พ.เวลา 09.30น.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ ตรวจความคืบหน้าและซักซ้อมพิธีบวงสรวงการก่อสร้างและ ยกเสาเอก บริเวณสนามหลวง ก่อนมีพิธียกเสาเอกในวันจันทร์ที่27 ก.พ.เวลา10.01น.โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งการติดตั้งโครงสร้างเหล็กจะเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน
อย่างไรก็ตาม พระเมรุมาศเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวใช้เฉพาะกิจ ดังนั้น การออกแบบระบบโครงสร้างจึงเลือกใช้เทคนิคและกรรมวิธีเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดคือโครงสร้างของพระเมรุมาศและอาคารประกอบในครั้งนี้ ใช้เหล็กรูปพรรณ โครงหลังคาใช้ระบบโครงสร้างเหล็ก เสาพระเมรุมาศทั้ง4มุมใช้โครงสร้างเหล็กประกอบตามรูปทรงที่กำหนดในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวสามารถก่อสร้างได้รวดเร็วและง่ายต่อการรื้อถอน โดยวิศกรได้วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างให้สามารถรับน้ำหนักอาคารและแรงกระทำต่างๆได้อย่างมั่นคง.-สำนักข่าวไทย