กรุงเทพฯ 23 พ.ย. – ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม ปตท.ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น ส.อ.ท. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2560 อยู่ที่ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่มีปัจจัยที่ต้องจับตามองจากนโยบายการผลิตของกลุ่ม OPEC ตลอดจนนโยบายด้านเศรษฐกิจและพลังงานของสหรัฐอเมริกา
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “The Annual Petroleum Outlook Forum 2016” ซึ่งทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม ปตท. หรือ PRISM (Petrochemicals and Refining Integrated Synergy Management) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อนำเสนอข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับราคาน้ำมัน รวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมัน ตลอดจนแนวโน้มของทิศทางน้ำมันในอนาคต อีกทั้งยังมีการเสวนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเปิดมุมมองแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่สอดคล้องไปกับแนวคิด Thailand 4.0 ในหัวข้อ “Thailand 4.0 พลังงานไทย ต้องไล่ให้ทัน”
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาวันนี้จะช่วยเปิดโลกทัศน์ด้านพลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชนเพื่อเตรียมพร้อมในการวางแผนดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและทุกภาคส่วนของสังคมต่อไป” นายเทวินทร์ กล่าว
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. เปิดเผยถึงทิศทางและแนวโน้มสถานการณ์น้ำมันของโลกปี 2560 ว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปีหน้า คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยความต้องการน้ำมันดิบของโลกปี 2560 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นระดับประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและจากผลของราคาน้ำมันที่ทรงตัวระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้มีการใช้น้ำมันมากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มที่จะมีมาตรการในการควบคุมกำลังการผลิตมากขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตจากผู้ผลิตนอกโอเปกที่เริ่มฟื้นตัวก็ยังอยู่ในปริมาณจำกัด สภาวะล้นตลาดของน้ำมันดิบจึงเริ่มลดน้อยลง และคาดว่าจะเริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 อย่างไรก็ตาม ทิศทางและราคาน้ำมันหลังปี 2560 ยังคงมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยที่เกิดจากการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายของประเทศหลักของโลก การพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันซึ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า อุปกรณ์เก็บพลังงานประจำบ้าน เป็นต้น การพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ย่อมมีผลกระทบโดยตรงเช่นกันกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันภายในประเทศ. – สำนักข่าวไทย