กรุงเทพฯ 14 ธ.ค. – กพร.เตรียมแจ้งอัคราฯ ม. 44 สั่งระงับการต่อใบอนุญาตโรงถลุงแร่ เพราะไม่ต้องการเอาชีวิตประชาชนเข้าไปเสี่ยง ระบุหากเห็นว่ารัฐละเมิดก็มีสิทธิ์ขอความเป็นธรรมกับศาลยุติธรรมได้
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 72/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ไปแล้วนั้น คำสั่งดังกล่าวสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการอนุญาตให้สํารวจและทําเหมืองแร่ทองคํา รวมถึงการต่ออายุประทาน บัตรเหมืองแร่ทองคําและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคําไว้ จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารแร่แห่งชาติจะมีมติเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น ในส่วนของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะแจ้งเรื่องการระงับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคําไปยังบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ยื่นคำขอต่ออายุ ซึ่งบริษัทรับทราบเบื้องต้นแล้วและมีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านกลุ่มที่สนับสนุนบริษัทอัคราฯ โดยแจ้งให้ทราบว่ามีชาวบ้านบางส่วนได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในบางส่วนของพื้นที่เหมืองที่ไม่ได้ดำเนินการ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน
ส่วนเรื่องแรงงานที่ได้รับผลกระทบ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจะเข้าไปดูแลเรื่องการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างและการฝึกฝีมือแรงงานเพื่อเข้าสู่อาชีพใหม่จะเป็นขั้นตอนช่วยเหลือที่จะต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่เฝ้าระวังด้านสุขภาพของประชาชนโดยรอบเหมืองเช่นเดิม มีการดูแลเรื่องฝุ่น เสียง เรื่องน้ำที่มีการร้องเรียนเสมอว่ามีการปนเปื้อนของไซยาไนด์ในพื้นที่แปลงนา ซึ่งจากการตรวจสอบล่าสุดไม่พบการรั่วของไซยาไนด์แต่อย่างใด และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บ่อพักน้ำจากเหมืองทองคำว่ามีการรั่วไหลออกมาหรือไม่ โดยใช้เครื่องมือตรวจสอบจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบผลกระทบต่อชุมชนซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คำสั่ง ม. 44 ที่ออกมาไม่ตัดสิทธิ์ผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้อง ค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เอกชนจึงสามารถยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับศาลยุติธรรมได้ ส่วนกรณีที่ประชาชนอาจมองว่าเอกชนที่ได้รับผลกระทบจาก ม. 44 อาจฟ้องหน่วยงานรัฐเพื่อเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลนั้น เรื่องดังกล่าวรัฐบาลให้ความสำคัญผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน มองชีวิตของประชาชนมีค่า การพัฒนาประเทศก็สำคัญ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณารายละเอียดผลกระทบ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดก็ตามคงไม่เอาเรื่องชีวิตของประชาชนเข้าไปแลกไปเสี่ยง แต่เรื่องนี้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการได้.-สำนักข่าวไทย