กรุงเทพฯ 23 ก.ค. – 8 วิสาหกิจชุมชนภาคตะวันออก-อีสาน ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรียกร้องให้เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชน ชาวบ้านเผยเตรียมพื้นที่ประสานงานชุมชน ทำโครงการหวังรายได้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท/ปี สร้างรายได้เพิ่มทั้งจากขายพืชพลังงาน และนำไปดูแลสังคม รักษามรดกโลกบ้านเชียง
เวลาประมาณ 13.30 น.ที่กระทรวงพลังงาน ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน 8 แห่ง จากภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางมาที่กระทรวงพลังงาน โดยยื่นหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้เร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ ครม. และมีการเปลี่ยนแปลง รมว.พลังงาน
โดยกลุ่มฯ เห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ และจับต้องได้ สำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่ผู้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า, เกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน, ผู้ดำเนินการตัดและนำส่งพืชพลังงานถึงโรงไฟฟ้า, กองทุนหมู่บ้านและวิสาหกิจชุมชน ที่จะได้รับจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้าในโครงการฯ อย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพางบประมาณจากราชการเลย โดยโครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ แต่ละพื้นที่คาดจะมีการปลูกหญ้าเนเปียร์ 3,000 ไร่ จะมีเงินส่วนแบ่งรายได้ 0.25 บาท/หน่วย หรือ 6 ล้านบาท/ปี เข้ากองทุนหมู่บ้าน ซึ่งประเมินขั้นต่ำประมาณ 120 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาสัญญาขายไฟ 20 ปี (หรือ 500,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 20 ปี) ขณะเดียวกันก็จะมีปุ๋ยจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวภาพ ในการไปใช้ในพื้นที่เกษตรอีกด้วย
นางนฤชล พฤกษา ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุนสร้างอาชีพตลาดไทร จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า อำเภอชุมพวง พื้นที่แห้งแล้ง มีความหวังที่จะมีรายได้เพิ่มจากการปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อจำหน่ายแก่โรงไฟฟ้าชุมชน มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 290 คน และได้ประสานงานกับภาคีเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อบ้านหนองคู่ อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกหญ้า และร่วมกันส่งหญ้าเพื่อสร้างมั่นใจกับโรงไฟฟ้าที่จะมาตั้งในอนาคต
นายธนพงศ์ เนื่องมาก ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ ต.หนองบัว จ.บุรีรัมย์ กล่าวคาดหวังว่า รมว.พลังงานคนใหม่จะสานต่อโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งในพื้นที่ก็เริ่มมีการปลูกหญ้าเนเปียร์แล้ว เพราะหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะสร้างรายได้เสริมเก่เกษตรกร
นายวิโรจน์ เลินไธสง ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางเรียนรู้ผู้ผลิตสินค้า อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในพื้นที่ห้วยแสลงแล้งทำนาไม่ได้ ก็ได้มีการปลูกหญ้าเนเปียร์ ทั้งเป็นพืชอาหารสัตว์ขายได้ 900-1,100 บาท/ตัน และจะแบ่งส่วนหนึ่งมาขายแก่โรงไฟฟ้า 500 บาท/ตัน ซึ่งที่ผ่านมาคาดหวังโครงการจะเกิดได้จริง ก็คาดหวัง รมว.พลังงานคนใหม่จะผลักดันให้เกิดขึ้น
นายสุรเชษฐ์ ภูมิศรีแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี ได้ชี้แจงว่าทางชุมชนบ้านเชียงเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมมากว่า 5,000 ปี มีการแบ่งและควบคุมพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงออกเป็น 3 วง เพื่อรักษามรดกโลกไว้อย่างหวงแหน ก็ยังมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยจับสรรพื้นที่รอบนอกในการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อป้อนโรงไฟฟ้า และนำรายได้จากส่วนแบ่งมาช่วยรักษามรดกโลกไว้อีกทางหนึ่งด้วย.-สำนักข่าวไทย