กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – นักเศรษฐศาสตร์สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยอมรับกังวลการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจและการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะส่งผลต่อความต่อเนื่องนโยบายเศรษฐกิจ และการผ่านงบปี 64 เกิดความล่าช้า
นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยอมรับว่ากังวลถึงการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 ด้าน คือ ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เกิดการลงทุนต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปี ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีมเศษฐกิจ, ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม รวมทั้งมีความไม่มั่นใจถึงการโหวตงบปี 2564 ช่วงเดือนกันยายน ซึ่งจากการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้จะมีผลทำให้เกิดความล่าช้าเหมือนตอนโหวตงบปี 2563
อย่างไรก็ตาม มองว่าที่ผ่านมาการเดินหน้านโยบายด้านเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าทีมทำได้ดีตามลำดับ และมองว่าช่วงเปลี่ยนผ่านอาจทำให้นโยบายการคลังสะดุด ขณะที่ข่าวชื่อบุคคลที่จะมาดูแลด้านเศรษฐกิจที่ออกมานั้น ตลาดไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่จะมองภาพรวมหรือทีมที่เข้ามามากว่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสิ่งที่ตลาดกังวลที่สุด คือ ความต่อเนื่องของนโยบาย
นายทิม กล่าวว่า ขอฝากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ถึงความต่อเนื่องและรวดเร็วในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยา การฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ และการทำ travel bubble ในบางประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น โดยมองกรณีทหารอิยิปต์ที่จังหวัดระยองอาจทำให้การทำนโยบายท่องเที่ยวสะดุดบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นความเสี่ยง และมองว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความระวังมากขึ้น
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ให้มุมมองถึงภาวะตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปียังอยู่ในภาวะผันผวน โดยตลาดเอเชียมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าตลาดตะวันตก แต่ยังอยู่ในระยะที่ต้องเฝ้าระวัง ถ้ามีเงินทุนไหลกลับเข้ามาต่อเนื่อง จะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อ นอกจากนี้หากไทยกลับมาเปิดภาคท่องเที่ยวได้สำเร็จจะเป็นปัจจัยบวกกับค่าเงินบาทยิ่งขึ้น โดยคาดว่า สิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจจะแข็งกว่านั้นที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมจนเหลือ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ จากเหตุผลเรื่องของเศรษฐกิจที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่าปีนี้จะ -5% เงินเฟ้อปีนี้ -1% รวมทั้งความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจขณะนี้ .-สำนักข่าวไทย